หลังจากสิงคโปร์เริ่มบังคับใช้ฉลากโภชนาการ Nutri-Grade เพื่อแสดงระดับน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวในกลุ่มเครื่องดื่มบรรจุแบบพร้อมดื่มในเดือนธันวาคมปี 2565 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานในประชากร

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศขยายการบังคับใช้ฉลากโภชนาการดังกล่าวไปยังกลุ่มเครื่องดื่มแบบชงสด (Freshly prepared beverages) เช่น น้ำผลไม้ เครื่องดื่มประเภทปั่น (Smoothie) ชานมไข่มุก และกาแฟ ทั้งการขายผ่านหน้าร้านและการขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ยกเว้นในกลุ่มผู้ประกอบการประเภทบุคคลและธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมีรายได้รวมในปีงบประมาณที่ผ่านมาน้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือมีสาขาน้อยกว่า 10 สาขา ซึ่งยังคงได้รับการผ่อนปรนจากมาตรการดังกล่าว

ระบบฉลากโภชนาการ Nutri-Grade ในกลุ่มเครื่องดื่มแบบชงสด

ฉลากโภชนาการ Nutri-Grade ซึ่งกำกับกลุ่มเครื่องดื่มแบบชงสดแบ่งเป็น 4 ระดับ อิงจากปริมาณส่วนผสมประเภทน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวต่อปริมาตรเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร ได้แก่ (1) ระดับ A สีเขียว หมายถึง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 กรัม ไม่มีสารให้ความหวาน และมีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.7% (2) ระดับ B สีเขียวอ่อน หมายถึง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 1 กรัมแต่ไม่เกิน 5 กรัม และมีไขมันอิ่มตัวมากกว่า 0.7% แต่ไม่เกิน 1.2% (3) ระดับ C สีส้ม หมายถึง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 5 กรัมแต่ไม่เกิน 10 กรัม และมีไขมันอิ่มตัวมากกว่า 1.2% แต่ไม่เกิน 2.8% (4) ระดับ D สีแดง หมายถึง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 10 กรัมขึ้นไป และมีไขมันอิ่มตัวมากกว่า 2.8% ขึ้นไป

การจัดระดับกลุ่มเครื่องดื่มแบบชงสดตามระบบโภชนาการ Nutri-Grade
ที่มา: คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Board: HPB) https://hpb.gov.sg/healthy-living/food-beverage/nutri-grade

ทั้งนี้ ร้านเครื่องดื่มแบบชงสดที่ให้บริการปรับส่วนผสมตามความต้องของผู้บริโภค เช่น ร้านชานมไข่มุกซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกระดับความหวานของเครื่องดื่มได้จาก 0 – 100% จะได้รับการประเมินตามระบบโภชนาการ Nutri-Grade โดยอิงจากระดับความหวานสูงสุดที่ให้บริการภายในร้าน ในขณะที่ร้านซึ่งไม่มีบริการปรับส่วนผสมตามความต้องของผู้บริโภคจะได้รับการประเมินโดยอิงจากส่วนผสมตามสูตรของร้าน โดยกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ (Ministry of Health: MOH) และคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Board: HPB) หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพิจารณาลดปริมาณส่วนผสมประเภทน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวในเครื่องดื่มลงได้

สำหรับกลุ่มเครื่องดื่มชงสดที่ได้รับการประเมินในระดับ A และ B สามารถเลือกแสดงฉลากโภชนาการ Nutri-Grade หรือไม่ก็ได้ และยังสามารถใช้เครื่องหมายสินค้าเพื่อสุขภาพ (Healthier Choice Symbol: HCS) หรือเครื่องหมายอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthier Dining Programme: HDP) ประกอบเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ในขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มชงสดระดับ C และ D ต้องแสดงฉลากโภชนาการ Nutri-Grade เพื่อแสดงปริมาณส่วนผสมน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวให้เห็นอย่างชัดเจนในรายการเครื่องดื่มหน้าร้านและ/หรือจุดขายออนไลน์ โดยเครื่องดื่มแบบชงสดระดับ D จะไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา

นอกจากนี้ ส่วนผสมเพื่อการแต่งหน้าเครื่องดื่ม (Toppings) ของกลุ่มเครื่องดื่มแบบชงสด เช่น ไข่มุก เยลลี่ ไอศกรีม และวิปครีม ก็ต้องมีฉลากแสดงปริมาณส่วนผสมประเภทน้ำตาลกำกับเช่นกัน 

ตัวอย่างการแสดงฉลากโภชนาการ Nutri-Grade ในกลุ่มเครื่องดื่มแบบชงสดและระดับน้ำตาลในส่วนผสมเพื่อการแต่งหน้า (Toppings)
ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health: MOH)
https://www.moh.gov.sg/images/librariesprovider5/default-album/ng-pic-2.png

ตลาดชานมชงสดในสิงคโปร์เริ่มปรับตัว

ด้านผู้ประกอบการเครื่องดื่มชงสดประเภทชานมไข่มุกในสิงคโปร์แสดงท่าทีที่หลากหลายต่อมาตรการดังกล่าว โดย LiHo ร้านชานมสัญชาติสิงคโปร์ เป็นร้านที่เริ่มแสดงฉลากโภชนาการ Nutri-Grade ในรายการเครื่องดื่มตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และมีแผนที่จะปรับสูตรเครื่องดื่มภายในร้านเพื่อลดจำนวนเครื่องดื่มระดับ D ลง จาก 12 รายการ เป็น 7 รายการ และเพิ่มจำนวนเครื่องดื่มระดับ B จาก 3 รายการเป็น 9 รายการภายในเดือนธันวาคม 2566 เช่นเดียวกับร้าน Heytea จากจีนที่พยายามปรับสูตรเครื่องดื่มระดับ D ในปัจจุบันของร้านให้สูงขึ้นเป็นอย่างน้อยระดับ C ด้านร้าน PlayMade จากไต้หวันที่ได้พยายามปรับสูตรเครื่องดื่ม พร้อมทั้งนำสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลเข้ามาใช้เพื่อคงรสชาติเครื่องดื่มดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ร้าน Each-a-Cup และร้าน Gong Cha จากไต้หวันเลือกที่จะคงสูตรเครื่องดื่มส่วนใหญ่ไว้ แม้เครื่องดื่มของร้านส่วนมากจะอยู่ในระดับ C และ D ก็ตาม

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

ผู้ประกอบการไทยซึ่งประกอบธุรกิจด้านเครื่องดื่มชงสดในสิงคโปร์ควรปรับตัวและปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวโดยเคร่งครัด โดยแสดงฉลากโภชนาการ Nutri-Grade เพื่อแสดงระดับน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวในรายการเครื่องดื่มทั้งในหน้าร้านและ/หรือบนช่องทางออนไลน์ให้ครบถ้วนชัดเจน นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวของสิงคโปร์ยังเป็นโอกาสทางที่ดีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจากไทยด้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย/ไร้น้ำตาล ที่จะขยายตลาดมายังสิงคโปร์ได้ในลำดับต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง