สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของโลก โดยดัชนี The Global AI ประจำปี 2566 จัดให้สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 3 จาก 62 ประเทศ ที่มีความก้าวหน้าด้านการลงทุน พัฒนา และใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รองจากสหรัฐฯ และจีน

ด้าน Statista ประเมินมูลค่าตลาด AI ภาพรวมของสิงคโปร์ในปี 2566 ไว้ที่ 3.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แบ่งออกเป็นมูลค่าตลาดย่อย ได้แก่ (1) การเรียนรู้ของระบบคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) มูลค่า 2.56 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) มูลค่า 357 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (3) ระบบอัตโนมัติและการตรวจวัด (Autonomous & Sensor Technology) มูลค่า 330 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (4) คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision) หรือการมองและวิเคราะห์ข้อมูลภาพโดยคอมพิวเตอร์ มูลค่า 330 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และ (5) หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI Robotics) มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ของตลาด AI ของสิงคโปร์ระหว่างปี 2566 – 2573 ที่ร้อยละ 19.94 และภายในปี 2573 ตลาดดังกล่าวจะมีมูลค่าประเมินที่ 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์

การใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในสิงคโปร์

นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ กล่าวในสุนทรพจน์ระหว่างงานประชุม Singapore Conference on AI for the Global Good เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 ว่า สิงคโปร์ได้เริ่มใช้งาน AI อย่างเป็นรูปธรรมในภาครัฐที่สำคัญ เช่น

(1) การสาธารณสุข (Healthcare) ได้มีการใช้ AI ในโปรแกรม JARVISDHL ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันสาธารณสุข (SingHealth) และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) เพื่อตรวจสอบและป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะไขมันในเลือดสูงในผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในโปรแกรม Singapore Eye Lesion Analyser (SELENA+) สำหรับการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคเบาหวานขึ้นจอตา โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกด้วย

(2) ภาคการเงิน (Finance) ได้มีการใช้งาน AI เพื่อตรวจจับการฉ้อโกง (Fraud Detection) ทางออนไลน์ ซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลาย โดยจากการสำรวจของ Feedzai ในเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่าธนาคารและผู้ให้บริการด้านการชำระเงินกว่าร้อยละ 82 ในสิงคโปร์มีการใช้ AI เพื่อตรวจจับการฉ้อโกง          

(3) การให้บริการของภาครัฐ (Public Service of Singapore) รัฐบาลสิงคโปร์มีโปรแกรมชื่อ Pair ซึ่งเป็นโปรแกรมถามตอบอัจฉริยะสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ChatGPT ของ Microsoft โดยเจ้าหน้าที่รัฐของสิงคโปร์สามารถใช้โปรแกรมดังกล่าวในการระดมสมอง ร่างข้อมูล เขียนโปรแกรม และประมวลผลข้อมูล ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

การสนับสนุนจากรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในสิงคโปร์เป็นผลมาจากการสนับสนุนของภาครัฐทั้งในเชิงนโยบายและงบประมาณ เช่น

(1) การประกาศแผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National AI Strategy) เมื่อปี 2562 เพื่อสร้างระบบนิเวศ AI ในประเทศ รวมทั้งศึกษาและริเริ่มโครงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ระดับชาติ (National AI Projects) ในสาขาสำคัญ เช่น การขนส่ง การให้บริการของหน่วยงานท้องถิ่น การพยากรณ์และจัดการโรคเรื้อรัง การศึกษาส่วนบุคคล และการดำเนินงานของพิธีการเข้าเมือง

(2) การสนับสนุนและลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ โดยจัดตั้งหน่วยงาน AI Singapore (AISG) ในปี 2560 และมอบงบประมาณสนับสนุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านหน่วยงานดังกล่าวเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2561 – 2566

(3) การพัฒนาด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในปี 2562 สิงคโปร์เป็นประเทศแรกของโลกที่มีการประกาศใช้กรอบแนวทางในการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (Model AI Governance Framework) ชื่อว่า AI Verify ซึ่งใช้ประเมินประสิทธิภาพและมาตรฐานของระบบ AI ต่าง ๆ โดยอิงจากหลักการด้านจริยธรรม 11 ข้อ เช่น ความโปร่งใส ความสามารถในการอธิบาย ความสามารถในการการทำซ้ำ ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการกำกับดูแลของมนุษย์ ประสิทธิภาพในเชิงเทคนิคและความปลอดภัย และธรรมาภิบาลของชุดข้อมูล โดย AI Verify สอดคล้องกับกรอบแนวทางในการกำกับดูแล AI ของสหภาพยุโรปและองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ต่อมาในปี 2565 สิงคโปร์ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Toolkit) ชื่อว่า AI Verify เช่นเดียวกันขึ้น โดยอิงจากกรอบแนวทางในการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ AI Verify และใช้สำหรับทดสอบระบบ AI ในเชิงเทคนิค โดย ณ ปี 2566 การทดสอบระบบ AI เชิงเทคนิคด้วยซอฟต์แวร์ AI Verify ยังคงจำกัดอยู่ที่การทดสอบระบบ AI ซึ่งเรียนรู้ได้ด้วยตนเองแบบมีผู้สอน (Supervised Machine Learning) ซึ่งนำเข้าชุดข้อมูลประเภทตารางและรูปภาพ และให้ผลลัพธ์เป็นการแยกหมวดหมู่ (Classification) หรือเป็นตัวเลขเท่านั้น ยังไม่สามารถทดสอบระบบ AI ที่มีความสามารถในการสร้างเนื้อหา (Generative AI Model) หรือระบบ AI ขนาดใหญ่ที่มีความสามารถด้านภาษา (Large Language Model) ได้ ซึ่งหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาด้านการกำกับดูแล AI ดังกล่าว คือ สำนักสารสนเทศ การสื่อสาร และการพัฒนาสื่อ (Infocomm Media Development Authority: IMDA) และมูลนิธิ AI Verify ซึ่งเป็นพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนและกำหนดทิศทางการพัฒนาการทดสอบและแนวทางในการกำกับดูแล AI โดยมีสมาชิกกว่า 60 องค์กร อาทิ สำนักสารสนเทศ การสื่อสาร และการพัฒนาสื่อ รวมทั้งบริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น Aicadium Google IBM Microsoft Red Hat และ Salesforce

แผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติปี 2566 (National AI Strategy 2.0)

สิงคโปร์วางเป้าหมายในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ภาคการผลิต บริการทางการเงิน การคมนาคมขนส่ง บริการทางสุขภาพและวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมทั้งเพื่อยกระดับความปลอดภัยและการบริการแก่สาธารณชน ซึ่งช่วยส่งเสริมสถานะของสิงคโปร์ในฐานะประเทศอัจฉริยะ (Smart Nation) โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 รัฐบาลสิงคโปร์ได้เผยแพร่แผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้เทคโนโลยีประดิษฐ์ที่พัฒนาในสิงคโปร์เป็นสินค้าสาธารณะ (Public Good) ทั้งสำหรับสิงคโปร์และในระดับโลก ต่างจากเดิมที่มองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีเสริม โดยกำหนดเป้าหมายใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้กลายเป็น “สิ่งจำเป็น” (2) การขยายขอบเขตการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สู่ระดับโลก และ (3) การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “อย่างเป็นระบบ”

แผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ฉบับที่ 2 แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่

(1) การพัฒนาระบบเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Activity Drivers) ผ่านการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคการวิจัย โดยในภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลสิงคโปร์มุ่งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Centre of Excellence) ขององค์กรเอกชน เพื่อกระตุ้นการสร้างและใช้งาน AI ในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจที่ครอบคลุมและหลากหลาย ปัจจุบัน บริษัท American Express ซึ่งมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในสิงคโปร์ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาทดลองเพื่อใช้งานด้านสินเชื่อและการประเมินความเสี่ยงเมื่อเดือนธันวาคมปี 2565 ก่อนจะขยายไปยังด้านการบริการลูกค้าและการตลาดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2566 นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้าน AI เช่น การดึงดูดโครงการเร่งการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI (AI-focused Accelerator Programmes) ในภาครัฐ สิงคโปร์มีแผนใช้ AI เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการให้บริการสาธารณะของภาครัฐ โดยมุ่งสร้างและมอบคุณค่าแบบใหม่ให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ สำหรับด้านการวิจัย สิงคโปร์เน้นปรับปรุงแผนการวิจัยและพัฒนา AI แห่งชาติเพื่อรักษาสถานะความเป็นผู้นำด้านการวิจัย AI ในสาขาที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญ ได้แก่ AI เพื่อการใช้งานทางวิทยาศาสตร์ AI เพื่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึง AI พื้นฐาน (Foundational AI) ซึ่งประกอบด้วย AI ที่มีความรับผิดชอบ (Responsible AI) AI ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Resource-Efficient AI) และ AI ที่มีเหตุผล (Reasoning AI)

 (2) การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและชุมชน (People & Communities) สิงคโปร์ตั้งเป้าดึงดูดผู้มีทักษะสูงในกลุ่มผู้สร้างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Creators) แนวหน้าของโลกเข้ามาทำงานในสิงคโปร์และทำงานร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์ และเร่งเพิ่มจำนวนผู้มีทักษะการฝึกและทดสอบปัญญาประดิษฐ์ (Practitioners) ให้มากขึ้นกว่า 3 เท่าของปัจจุบัน หรือเท่ากับ 15,000 คน รวมทั้งเพิ่มการสนับสนุนการรับ AI เข้ามาใช้งานของภาคธุรกิจเพื่อการปฏิรูปธุรกิจในประเทศ และให้การสนับสนุนการเพิ่มทักษะแรงงานผ่านการฝึกอบรมด้าน AI ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมเฉพาะตน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างพื้นที่ให้กับชุมชน AI เพื่อเป็นช่องทางการสร้างปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้สร้าง AI กับผู้ฝึกและทดสอบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนา AI ได้อีกทางหนึ่ง          

(3) การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม (Infrastructure & Environment) โดยสิงคโปร์มุ่งเพิ่มจำนวนคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงภายในประเทศและพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud Service Providers: CSPs) เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมุ่งสร้างความสามารถของประเทศในการบริการด้านข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว (Privacy-Enhancing Technologies) รวมทั้งอนุญาตให้มีการเข้าถึงข้อมูลเฉพาะของรัฐบาลที่ได้รับอนุญาตเพื่อสนับสนุนการพัฒนา AI ให้เป็นสินค้าสาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าไว้วางใจต่อการพัฒนา AI รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยไม่เข้มงวดจนเกินไป พร้อมทั้งมุ่งยกระดับมาตรฐานเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ทุกภาคส่วนที่ใช้งาน AI ยิ่งไปกว่านั้น สิงคโปร์ยังตั้งเป้าที่จะสร้างความร่วมมือกับนานาชาติในด้านการพัฒนานวัตกรรม AI และการกำกับดูแล โดยสิงคโปร์ได้เริ่มความร่วมมือดังกล่าวแล้วกับสหรัฐฯ ในปี 2566


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง