เปิดโปงขบวนการฟอกเงินครั้งใหญ่ มูลค่าสูงกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์เร่งจัดการปัญหาการฟอกเงินอย่างจริงจัง หวั่นกระทบความเชื่อมั่น

เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้เปิดโปงและจับกุมขบวนการฟอกเงินข้ามชาติรายใหญ่ มูลค่าทรัพย์สินรวมสูงกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ นับเป็นการฟอกเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สิงคโปร์ โดยเป็นการซื้อสินค้ามูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถยนต์หรูกว่า 50 คัน กระเป๋าแบรนด์เนมกว่า 250 ใบ นาฬิกาหรูและอัญมณีกว่า 270 ชิ้น ทองคำแท่ง สุรา ไวน์ ของสะสมราคาแพง และสินทรัพย์เสมือน (virtual assets) อาทิ สกุลเงินคริปโต การเป็นสมาชิกของ Sentosa Golf Club ที่มีค่าสมาชิกสูงสุดถึงหลายแสนดอลลาร์สิงคโปร์ และทรัพย์สินมูลค่าสูงอื่น ๆ นำไปสู่การสั่งระงับธุรกรรมการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 105 แห่งที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในครั้งนี้ รวมถึงความเชื่อมโยงกับบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์หลายแห่งที่เชื่อได้ว่าเป็นการทำธุรกิจบังหน้าเพื่อนำเงินดังกล่าวเข้าสู่ระบบการเงินอย่างถูกกฎหมาย

ขบวนการฟอกเงินครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ต้องหาชาวต่างชาติ 10 ราย อายุระหว่าง 31 – 44 ปี มีทั้งผู้ที่ถือหนังสือเดินทางของจีน กัมพูชา ไซปรัส ตุรกี และวานูอาตู และยังมีผู้ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้อีกกว่า 34 ราย ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการฟอกเงินเห็นว่าการฟอกเงินครั้งนี้มีความซับซ้อน เนื่องจากทำเป็นขบวนการใหญ่ มีการกระจายเงินหลายช่องทาง ทำให้ยากแก่การตรวจพบความผิดปกติ

สิงคโปร์กับความเสี่ยงในการเป็นแหล่งฟอกเงินของอาชญากร และผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีความเจริญรุ่งเรืองด้านการบริการทางการเงินและมีระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ การลงทุน และการจัดตั้งบริษัท รวมถึงการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทำให้สิงคโปร์มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน จึงยากต่อการสังเกตและบ่งชี้ธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย สิงคโปร์จึงมีความเสี่ยงสูงในการเป็นแหล่งให้อาชญากรหาช่องโหว่เพื่อกระทำการฟอกเงิน โดยเมื่อปี 2552 สิงคโปร์เคยถูกจัดอันดับโดย Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ให้เป็นหนึ่งในแหล่งที่เอื้อต่อการทุจริตด้านภาษี และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินในสิงคโปร์มีคดีที่เกี่ยวกับการฟอกเงินรวม 17 ครั้ง ซึ่งรวมถึงคดีของบริษัท Asiaciti Trust ที่ได้รับโทษปรับเป็นเงินถึง 1.1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เมื่อปี 2564 ฐานไม่ปฏิบัติอย่างเพียงพอในการต่อต้านการฟอกเงิน

ทั้งนี้ ในปี 2564 International Monetary Fund (IMF) เคยประเมินว่าการถูกจัดอันดับเป็นแหล่งที่เอื้อต่อการฟอกเงินส่งผลให้เงินทุนที่ไหลเข้าสิงคโปร์ลดลงเฉลี่ยถึง 7.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จึงส่งผลกระทบด้านลบต่อชื่อเสียงและสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในวงกว้าง เนื่องจากการบริการด้านการเงินของสิงคโปร์อย่างเดียวนั้นมีสัดส่วนถึง 13% ของ GDP และมีบุคลากรด้านนี้ถึง 170,000 คน

การต่อต้านการฟอกเงินและแหล่งเงินทุนสนับสนุนผู้ก่อการร้ายของสิงคโปร์

เบาะแสสำคัญที่นำมาสู่การเปิดโปงขบวนการฟอกเงินในครั้งนี้ มาจากการตรวจจับความผิดปกติในรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยของสถาบันการเงิน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์ แผนกการพาณิชย์ ซึ่งหลังจากการจับกุม ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ประกาศจะดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดกับสถาบันการเงินที่หละหลวมหรือมีส่วนเอื้อต่อการฟอกเงิน และย้ำว่าการต่อต้านการฟอกเงินจะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันของทั้งฝ่ายออกกฎระเบียบ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สถาบันการเงิน และภาคธุรกิจที่ไม่ใช่การเงิน ในการระบุเส้นทางการฟอกเงิน แนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน และเน้นเพิ่มพูนความรู้ด้านกฎระเบียบทางการเงินเพื่อกำกับดูแลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ร้านค้าจำหน่ายสินค้าหรูหรา รวมถึงผู้จัดหาและจัดส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ MAS ร่วมกับกลุ่มธนาคารหลักในสิงคโปร์กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล COSMIC หรือ Collaborative Sharing of Money Laundering/ Terrorism Financing Information and Cases เพื่อเป็นฐานข้อมูลการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยระหว่างสถาบันการเงินในสิงคโปร์ โดยจะเริ่มเปิดใช้งานในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 นอกจากนี้ MAS ยังเสนอการเพิ่มมาตรการตรวจสอบธุรกิจที่บริหารความมั่งคั่งของเจ้าของธุรกิจครอบครัว (family office) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในสิงคโปร์ เพราะอาจเป็นแหล่งฟอกเงินชั้นดีของอาชญากร

คณะทำงาน Anti-Money Laundering and Countering the Financing of Terrorism Industry Partnership (ACIP) ของสิงคโปร์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2560 ก็พัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมการฟอกเงินในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ในส่วนของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น Urban Redevelopment Authority (URA) ก็ได้ออกกฎระเบียบใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตรวจสอบความเสี่ยงจากข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจสอบรายชื่อและองค์กรของผู้ก่อการร้าย

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ  

การฟอกเงินมักเชื่อมโยงกับอาชญากรรมที่ร้ายแรง อาทิ การค้ายาเสพติด ทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินไร้ประโยชน์ เร่งให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และยังทำให้กลุ่มอาชญากรมีเงินทุนในการทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมายมากขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รัฐบาลและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายจึงต้องติดตามและพัฒนาวิธีการตรวจสอบให้ครอบคลุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิเคราะห์และคัดกรองการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยง

ผู้ประกอบการไทยควรทำธุรกิจอย่างระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับการต่อต้านการฟอกเงินและแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้ายของสิงคโปร์อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบคู่ค้าและแหล่งที่มาทางการเงินเพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของเหล่าอาชญากร โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขายต่อสินค้าราคาแพง ธุรกิจอิงกระแสเงินสดซึ่งยากแก่การตรวจสอบความคลาดเคลื่อนของบัญชี เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจซักรีด รวมถึงธุรกิจซื้อ-ขายสกุลเงินดิจิทัลและของสะสมแปลกใหม่ตามยุคสมัย  ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินจะต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง