สิงคโปร์เป็นประเทศแนวหน้าในภาคอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีระดับโลก ข้อมูลจาก The Business Times ระบุว่า สิงคโปร์เป็น 1 ใน 5 ศูนย์กลางด้านการกลั่นน้ำมันเพื่อส่งออกของโลกและส่งออกเคมีภัณฑ์สูงสุดเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและร้อยละ 20 ของผลผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์กำลังเผชิญกับความท้าทายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีในนานาประเทศ ซึ่งเริ่มหันเหจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นการใช้พลังงานสีเขียวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลกตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) 

สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมพลังงานในปี 2566 และคาดการณ์ในปี 2578

แผนภูมิสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมพลังงานของสิงคโปร์ในปี 2566 และคาดการณ์ในปี 2573
ที่มา: The Straits Times https://www.straitstimes.com/multimedia/graphics/2023/11/energy-mix-2035/index.html?shell 

แม้ก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 40 ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศในสิงคโปร์จะมีที่มาจากภาคอุตสาหกรรมพลังงาน แต่จากข้อมูลในปี 2566 สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมพลังงานในสิงคโปร์ยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลักที่ร้อยละ 94.3 รองลงมาคือพลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานจากขยะในประเทศซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 4.4 พลังงานจากถ่านหินที่ร้อยละ 0.9 และพลังงานจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ร้อยละ 0.3 โดยในกลุ่มพลังงานจากก๊าซธรรมชาติดังกล่าว กว่าร้อยละ 60 เป็นก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าผ่านการขนส่งระบบท่อจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ในขณะที่อีกร้อยละ 40 เป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquidified Natural Gas: LNG) ที่นำเข้าผ่านการขนส่งทางเรือจากออสเตรเลีย สหรัฐฯ และกาตาร์ ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์มีสถานีก๊าซธรรมชาติเหลวจำนวน 1 แห่ง ประกอบด้วยท่าเทียบเรือจำนวน 2 ท่า และถังบรรจุก๊าซธรรมชาติเหลวจำนวน 4 ถัง คิดเป็นขนาดความจุกว่า 8 แสนลูกบาศก์เมตร และในเดือนตุลาคมปี 2566 สิงคโปร์ยังได้ประกาศสร้างสถานีก๊าซธรรมชาติเหลวแบบลอยน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง  

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานโลก ในระยะยาวสิงคโปร์ได้วางนโยบาย Singapore Green Plan สำหรับแผนลดการพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติและเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวในอนาคต โดยคาดการณ์สัดส่วนพลังงานในปี 2578 ของสิงคโปร์จะแบ่งเป็น พลังงานจากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 50 พลังงานหมุนเวียนจากการนำเข้าร้อยละ 30 และพลังงานจากแหล่งอื่น ๆ ร้อยละ 20 ซึ่งโครงการนำเข้าพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (Energy Market Authority: EMA) ณ ปี 2566 ได้แก่ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 กิกะวัตต์จากอินโดนีเซีย ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลมจำนวน 1 กิกะวัตต์จากกัมพูชา รวมถึงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 1.2 กิกะวัตต์จากเวียดนาม 

ทางเลือกในการพัฒนาพลังงานสีเขียวของสิงคโปร์

แบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบ อาทิ 

(1) พลังงานจากแสงอาทิตย์โดยใช้ระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่งในปี 2566 สิงคโปร์สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศสูงสุดได้ถึง 1 กิกะวัตต์ พร้อมมีแผนเพิ่มการผลิตสูงสุดขึ้นเป็น 2 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 แม้จะมีความเป็นไปได้เชิงเทคนิคที่สิงคโปร์จะสามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้สูงสุดถึง 8 กิกะวัตต์ แต่การดำเนินงานดังกล่าวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากข้อจำกัดในเชิงปฏิบัติและข้อจำกัดด้านพื้นที่ นอกจากนี้ ในระยะยาวสิงคโปร์ยังจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานจากแสงอาทิตย์ผ่านการพัฒนากลไกการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้เกินความต้องการในแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานในรูปแบบอากาศอัดใต้พื้นดิน (Compressed Air Energy Storage: CAES)

(2) พลังงานจากขยะในประเทศ โดยในปี 2566 สิงคโปร์มีโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะซึ่งได้จาการเผาขยะภายในประเทศที่เปิดดำเนินการแล้วกว่า 4 แห่ง ได้แก่ 1) TuasOne 2) Keppel Seghers Tuas 3) Tuas South และ 4) Senoko 

(3) พลังงานนิวเคลียร์ เป็นรูปแบบพลังงานซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ โดยนาย Lawrence Wong
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 11 – 13 ธันวาคม 2566 แสดงความหวังว่าจะเกิดความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์กับสหรัฐฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในขณะที่ ดร. Victor Nian ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งศูนย์กลยุทธ์ด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ (Centre for Strategic Energy and Resources) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระบุว่า สิงคโปร์ยังคงมีช่องว่างในองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์และคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำที่จะมีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศภายในปี 2578 นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในการตัดสินใจเรื่องแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ 

(4) พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ สิงคโปร์มีแหล่งความร้อนใต้พิภพที่อาจนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานได้คือ บริเวณ
บ่อน้ำพุร้อนใน Sembawang ศาสตราจารย์ Alessandro Romagnoli จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University: NTU) กล่าวว่าการนำพลังงานจากความร้อนใต้พิภพในสิงคโปร์มาใช้นั้นมีความเป็นได้ หากมีความร้อนและแหล่งของพลังงานที่อยู่ลึกลงไปในชั้นใต้ดินที่มากพอ อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ยังจำเป็นต้องมีโครงการทดลองจัดเก็บความร้อนดังกล่าวเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในรายละเอียดต่อไป

(5) พลังงานไฮโดรเจน หากมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการสันดาปเพื่อผลิตไฟฟ้าเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติ โดยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2565 สิงคโปร์ได้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาไฮโดรเจนแห่งชาติ (National Hydrogen Strategy) เพื่อศึกษา ลงทุน สร้างเครือข่าย และเตรียมความพร้อมในการใช้พลังงานจากไฮโดรเจนดังกล่าว นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 บริษัทฮุนได (Hyudai) ของเกาหลีและ PTC Logistics ซึ่งเป็นบริษัทด้านการขนส่งชั้นนำของสิงคโปร์ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบนิเวศพลังงานไฮโดรเจนในสิงคโปร์ร่วมกัน

(6) พลังงานจากก๊าซธรรมชาติเหลวสังเคราะห์ (Eco-friendly Liquidified Natural Gas: E-LNG) ซึ่งได้จากการเพิ่มคาร์บอนอันมาจากการดักจับลงไปในไฮโดรเจนในน้ำของกระบวนการผลิตพลังงานสะอาด แล้วได้เป็นก๊าซมีเทน
ซึ่งเมื่อปรับก๊าซมีเทนดังกล่าวให้อยู่ในรูปของเหลวจะมีลักษณะเช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สามารถขนส่งผ่านโครงสร้างการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวและใช้ทดแทนกันเพื่อผลิตพลังงานได้

คาดการณ์สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมพลังงานในปี 2593

สิงคโปร์ประเมินความเป็นไปได้ของสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมพลังงานของในปี 2593 ไว้ 3 รูปแบบขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวและระดับความร่วมมือของนานาประเทศ ดังนี้
(1) รูปแบบที่ 1 เมื่อเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวมีความก้าวหน้าตามคาดการณ์และนานาประเทศมีความร่วมมือกัน
ในประเด็นดังกล่าว สิงคโปร์จะพึ่งพาแหล่งพลังงานจากไฮโดรเจนและพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการนำเข้าเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 40 ในแต่ละประเภท โดยสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมพลังงานอีกร้อยละ 20 จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ และอื่น ๆ
(2) รูปแบบที่ 2 แม้ว่าเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวจะมีความก้าวหน้าน้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่นานาประเทศยังคงร่วมมือกันด้านพลังงานสีเขียว สิงคโปร์จะพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการนำเข้าเป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 60 จากแหล่งพลังงานทั้งหมด ตามด้วยพลังงานจากไฮโดรเจนที่ร้อยละ 10 และพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ และอื่น ๆ ในสัดส่วนที่เหลือ
(3) รูปแบบที่ 3 เมื่อความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวระหว่างประเทศไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร แต่การลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวของสิงคโปร์ยังคงดำเนินต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ สิงคโปร์จะพึ่งพาพลังงานจากไฮโดรเจนเป็นหลักมากกว่าร้อยละ 50 ของแหล่งพลังงานทั้งหมด ในขณะที่พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการนำเข้าคิดเป็นร้อยละ 25 โดยสัดส่วนที่เหลือเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ พลังงานนิวเคลียร์ และอื่น ๆ

การดำเนินการของภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว

ภาคเอกชนในสิงคโปร์ได้ทยอยปรับตัวเพื่อรองรับแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมพลังงานที่มุ่งสู่พลังงานสีเขียวอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนธันวาคม 2566 บริษัทร่วมกิจการ The Goal Zero ประสบความสำเร็จในการสร้างเรือขนส่งสินค้าพลังงานไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ ชื่อว่า Hydromover โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนและสามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่า 25 ตัน ทั้งนี้ ภายในปี 2573 การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore: MPA) จะบังคับใช้ประกาศให้เรือในน่านน้ำสิงคโปร์ต้องเป็นเรือไฟฟ้าหรือต้องไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกต่อไป ด้านสมาคมสายการบินในเอเชียแปซิฟิก (Association of Asia Pacific Airlines: AAPA) ก็ได้ประกาศตั้งเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงแบบยั่งยืนในกลุ่มสายการบินสมาชิกที่ร้อยละ 5 ภายในปี 2573 ทั้งนี้ เพื่อเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงแบบยั่งยืน นอกจากนี้ กลุ่มท่าอากาศยานชางงี (Changi Airport Group) ก็ได้ริเริ่มโครงการการชดเชยคาร์บอนในปี 2566 โดยเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินเลือกชำระเงินเพื่อชดเชยคาร์บอนที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจากเที่ยวบินของตน โดยจำนวนเงินที่ได้จากโครงการดังกล่าวจะนำไปเป็นเงินทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง