อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ในสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 SGInnovate วิสาหกิจด้านการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology)1 ของรัฐบาลสิงคโปร์ รายงานว่าอุตสาหกรรม Deep Tech ในสิงคโปร์ แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) และความยั่งยืน สรุปสาระสำคัญ พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต ดังนี้        

ภาพรวมอุตสาหกรรม Deep Tech ในสิงคโปร์ และผลกระทบจากโควิด-19

องค์กร SGInnovate แบ่งอุตสาหกรรม Deep Tech ในสิงคโปร์ออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1) การเกษตรและอาหาร (AgriFood) 2) การผลิตขั้นสูง 3) ความยั่งยืน 4) สุขภาพและชีวการแพทย์ เมื่อปี 2562 อุตสาหกรรม Deep Tech ในสิงคโปร์เติบโตสูงสุด จำนวนสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นเป็น 87 ราย จาก 57 ราย ในปี 2560 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ตั้งแต่ปี 2563 ธุรกิจ Deep Tech ในสิงคโปร์ทั้ง 4 กลุ่มต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้จำนวนสตาร์ทอัพลดลงเหลือ 68 ราย ในปี 2563 และ 36 ราย ในปี 2564 เนื่องจากการพัฒนา Deep Tech จำเป็นต้องใช้ห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์เพื่อการทดสอบทางกายภาพ การประกาศมาตรการด้านสาธารณสุขของรัฐบาลสิงคโปร์จึงสร้างข้อจำกัดด้านการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัย ส่งผลให้จำนวนสตาร์ทอัพ Deep Tech ลดลงในช่วงดังกล่าว

นโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรม Deep Tech ของสิงคโปร์ และการประเมินแนวโน้มในช่วงต่อจากนี้

องค์กร SGInnovate ประเมินว่าอุตสาหกรรม Deep Tech จะฟื้นตัวและเติบโตดีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มการผลิตขั้นสูง เทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีความยั่งยืน

ในภาคเทคโนโลยีอวกาศ มีสตาร์ทอัพจัดตั้งขึ้นใหม่อย่างน้อย 8 รายตั้งแต่ปี 2560 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัจจัย (1) นโยบายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมของสิงคโปร์ (2) การสนับสนุนของโครงการ Space Accelerator ที่จัดตั้งโดยองค์กร Singapore Space & Technology (SSTL) และ (3) การลงนามข้อตกลง Artemis Accord ของ NASA สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 โดย รัฐมนตรีว่าการการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ 18 ที่เข้าร่วม

จำนวนสตาร์ทอัพใหม่ในภาคเทคโนโลยีความยั่งยืนลดลงจาก 16 รายในปี 2562 เป็น 7 – 8 ราย ในปี 2563 – 2564 อย่างไรก็ตาม การที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียวและพลังงานที่ยั่งยืน โดยจัดทำแผน Singapore Green Plan 2030 จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการวิจัย การพัฒนา และการสนับสนุนเงินทุนในภาคเทคโนโลยีความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการจัดทำกฎระเบียบให้ภาคเอกชนต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทำให้ธุรกิจในสิงคโปร์จำนวนมากต้องปรับตัวสำรวจแนวทางใหม่ ๆ เพื่อรองรับนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้เกิดการจัดตั้งสตาร์ทอัพด้านความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านพลังงานทดแทน การรีไซเคิล การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าในภาคธุรกิจ (ซึ่งสอดคล้องกับ BCG Model ของไทย)

การสนับสนุนอุตสาหกรรม Deep Tech โดยรัฐบาลสิงคโปร์         

เมื่อเดือนตุลาคม 2564 บริษัท Temasek ของรัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี เพื่อลงทุนในธุรกิจ Deep Tech เป็นการเฉพาะ เช่น การผลิตขั้นสูง เทคโนโลยีเพื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ชีวการแพทย์ เทคโนโลยีอาหาร และการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสิงคโปร์ ในห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีโลก 

กลุ่ม Seeds Capital หน่วยงานด้านการลงทุนในต่างประเทศของสิงคโปร์ สังกัด Enterprise Singapore (ESG) [ภายใต้ (MTI)] จะแต่งตั้งบริษัทร่วมลงทุนใน Deep Tech เพิ่มอีก 13 ราย เพื่อกระตุ้นการลงทุนมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยเฉพาะในสาขาการผลิตขั้นสูง วิศวกรรมศาสตร์ สุขภาพและชีวการแพทย์ การแก้ปัญหาในเมือง (Urban Solutions) และความยั่งยืน ซึ่งจะทำให้จำนวนรวมของธุรกิจในสาขานี้เพิ่มขึ้นเป็น 46 ราย

มูลนิธิวิจัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National Research Foundation – NRF) ได้จัดสรรทุน 500 ทุน เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญ Deep Tech ในด้านต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสุขภาพ โดยจะสนับสนุนทุกกลุ่มในระบบนิเวศ ตั้งแต่ Accelerator VC ไปจนถึงสตาร์ทอัพ

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ             

ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (26 มีนาคม – 2 เมษายน 2565) นาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MTI สิงคโปร์ ได้ลงนามใน Artemis Accord ของ NASA สหรัฐฯ และกล่าวว่าสิงคโปร์มีนโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอวกาศอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันมีบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ 50 ราย ซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานกว่า 1,800 คน สิงคโปร์จึงหวังว่าการเข้าร่วม Artemis Accord จะช่วยให้สิงคโปร์ร่วมมือกับหุ้นส่วนที่มีแนวคิดใกล้เคียงกันในสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาภาคเทคโนโลยีอวกาศของโลกผ่านการแลกเปลี่ยนทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย และเยาวชน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของภาคเทคโนโลยีอวกาศของสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์จะใช้อวกาศอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของมนุษยชาติ จากนั้นเมื่อ 30 มีนาคม 2565 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้พบหารือกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งกำกับดูแล National Space Council ของทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ และได้ย้ำถึงการเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่สำคัญของการเยือนด้วย

สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า สตาร์ทอัพด้าน Deep Tech ในสิงคโปร์ยังคงต้องเผชิญความท้าทายเรื่องระยะเวลาในการพัฒนาธุรกิจและการระดมเงินทุน ตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัย ทดลอง ไปจนถึงการออกผลิตภัณฑ์ ต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะประสบความสำเร็จ เช่น บริษัท Nanofilm Technologies ซึ่งเคยอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย NTU ของ สิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 แต่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ได้เมื่อเดือนตุลาคม 2563 หรือกว่า 20 ปีหลังจากการก่อตั้งบริษัทฯ    

สำหรับประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช./NIA) ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม Deep Tech ในประเทศไทย เช่น บริษัท Space-F บริษัท ไทยยูเนี่ยน บริษัท ThaiBev เพื่อส่งเสริมธุรกิจ DeepTech ด้านอาหารโดยเฉพาะ ทั้งการผลิตโปรตีนทางเลือกแบบใหม่และการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนด้านการเกษตร ได้ร่วมมือกับบริษัท Kubota และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อพัฒนา Urban Farming และ AI ด้านการเกษตร ทั้งนี้ จำนวนสตาร์ทอัพ Deep Tech ในไทยยังมีไม่มาก โดยไทยยังมีโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือกับสิงคโปร์อีกมาก ทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และการพัฒนาระบบนิเวศด้าน Deep Tech ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้าน Deep Tech ของไทยต่อไป


1เทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อนและคิดค้นขึ้นใหม่ โดยผ่านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง