รายงานการค้าประจำปี 2566 โดยองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เผยให้เห็นความเชื่อมั่นที่ลดลงของนานาประเทศต่อระบบการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลายประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาด
โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวระหว่างงานประชุม Reinventing Destiny เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 โดยแสดงความกังวลว่า การค้าเสรีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งดำรงอยู่ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา บัดนี้ได้ดำเนินมาถึงจุดจบ ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศซึ่งเคยยึดโยงกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศและความมั่นคงของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ จากการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรปที่ต่างเพิ่มการสนับสนุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่อุตสาหกรรมซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ความตึงเครียดทางการค้าของนานาประเทศ

รายงานการค้าประจำปี 2566 โดยองค์กรการค้าโลก (WTO) ระบุว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศคู่ค้าหลักของโลกมีแนวโน้มก่อตัวสูงขึ้น โดยสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 19.3 ด้านจีนก็เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 21.1 ด้านผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังก่อให้เกิดการจำกัดการส่งออก เมื่อสงครามเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 มีการประกาศใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าอาหาร อาหารสัตว์ และปุ๋ยมากกว่า 96 รายการ ในจำนวนนี้กว่า 68 รายการยังคงประกาศใช้ต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ บรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย จีน และสหภาพยุโรป ต่างประกาศดำเนินนโยบายการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน โดยอินโดนีเซียได้จำกัดการส่งออกสินค้าซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตหลายรายการ ด้านจีนได้จำกัดการส่งออกแร่แกลเลียมและเจอร์ราเนียมซึ่งถือเป็นแร่หายากและมีความเป็นจำเป็นต่อการผลิตในอุตสาหกรรม
เซมิคอนดักเตอร์ ทางสหภาพยุโรปได้ออกนโยบายป้องกันการย้ายที่ตั้งของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศไปยังประเทศนอกภูมิภาคที่มีนโยบายด้านภูมิอากาศเข้มงวดน้อยกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีคาร์บอน

ผลกระทบด้านการค้าของสิงคโปร์

นาย Victor Stolzenburg ผู้ประสานงานรายงานการค้าโลกให้ความเห็นว่า สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคีดังกล่าว เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าเป็นสำคัญและมีบทบาทในการสนับสนุนการค้าในระดับโลกในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ในกรณีที่การค้าระหว่างประเทศแบ่งขั้วและแตกออกเป็นกลุ่มย่อยตามความสัมพันธ์ทางการเมือง ความจำเป็นของศูนย์กลางการค้าจะลดลง โดยปัจจุบันสิงคโปร์ซึ่งตั้งอยู่ในซีกโลกฝั่งตะวันออกยังไม่ได้รับประโยชน์จากการไหลเวียนทางการค้ารูปแบบใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในขณะนี้ นอกจากนี้ หากปริมาณการค้าจากสหรัฐฯ ไปยังจีนลดลงในอนาคต โดยสหรัฐฯ หันไปทำการค้ากับสหภาพยุโรปมากขึ้น การไหลเวียนทางการค้าในเส้นทางใหม่จะไม่ผ่านสิงคโปร์ หรือหากสหรัฐฯ หันไปทำการค้ากับเม็กซิโกมากกว่าจีน ความจำเป็นของศูนย์กลางการค้าในเอเชียก็จะยิ่งลดความสำคัญลง สิงคโปร์จึงเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศน้อยกว่า

แนวทางการรับมือของสิงคโปร์

นาย Piyush Gupta ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธนาคาร DBS กล่าวว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ยึดโยงอยู่กับความสำเร็จทางเศรษฐกิจและการค้าของโลกมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น สิงคโปร์จึงต้องขยายการค้าระหว่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึงโอกาสจากจีน ซึ่งยังคงเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศต่าง ๆ กว่า 68 ประเทศทั่วโลกและเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศในอาเซียน รวมถึงโอกาสจากอินเดียและอินโดนีเซียซึ่งล้วนเป็นตลาดที่น่าสนใจ นอกจากนี้ การค้าภายในภูมิภาคซึ่งมีแนวเติบโตเพิ่มขึ้นยังอาจช่วยลดแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นของโลกต่อสิงคโปร์ลงได้ โดยการค้าภายในภูมิภาคในปี 2563 เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58.8 จากการค้าทั้งหมด  

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการเข้าร่วมประชุมผู้นำในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia -Pacific Economic Cooperation: APEC) ครั้งที่ 30 ณ นครซานฟรานซิสโกว่า ในสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน สิงคโปร์จำเป็นต้องดำเนินการค้าเสรีและสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยต้องมุ่งการส่งออกและดึงดูดการลงทุนทั้งกับสหรัฐฯ จีน อาเซียน และอินเดีย แม้ว่าบางประเทศอาจไม่สามารถเป็นคู่ค้าระหว่างกันได้ก็ตาม

การพบหารือระหว่างนายโจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนายสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีนในช่วงการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ส่งสัญญาณเชิงบวกต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ โดยสหรัฐฯ และจีนได้ (1) ตกลงเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศ ซึ่งตัดขาดการติดต่อไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2565 หลังการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (2) ตกลงลดการนำเข้าสารตั้งต้นเฟนทานิล (Fentanyl precursors) จากจีน ซึ่งเป็นยาระงับปวดชนิดสังเคราะห์กลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ที่มีฤทธิ์เหมือนฝิ่นและถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นยาเสพติดในสหรัฐฯ และเป็นวิกฤตอยู่ในขณะนี้ และ (3) หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ในอีกแง่หนึ่งอาจหมายถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของไทย โดยไทยสามารถไต่ระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการค้าของภูมิภาคได้ด้วยปัจจัยสนับสนุนทางภูมิศาสตร์ซึ่งอยู่ในศูนย์กลางเอเชียและอาเซียน ผู้ประกอบการไทยควรค้นหาช่องทางและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งล้วนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง