เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ได้แถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของรัฐบาลสิงคโปร์ (Budget 2024)ซึ่งจะกำหนดทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจในภาพรวมของรัฐบาลสิงคโปร์ทั้งประเด็นระดับชาติและประเด็นที่จะส่งผลต่อประชาชนสิงคโปร์

สาระสำคัญของการแถลง Budget 2024

งบประมาณปี 2567 สะท้อนถึงการช่วยเหลือและสนับสนุนคนชาติและธุรกิจในสิงคโปร์ให้สามารถรองรับสถานการณ์เงินเฟ้อ อัตราค่าจ้างแรงงานและสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจและแรงงานสิงคโปร์สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดิจิทัล

1. การตั้งเป้าหมายงบประมาณเกินดุลเล็กน้อย ที่ 800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือร้อยละ 0.1 ของ GDP สิงคโปร์ ภายหลังการมีงบประมาณขาดดุลที่ 3.57 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือร้อยละ 0.5 ของ GDP ในปี 2566 โดยรัฐบาลสิงคโปร์วางแผนการใช้จ่ายปีงบประมาณ 2567 ที่ 1.11 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้น 5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์จากปีก่อนหน้า และวางเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณภาพรวมให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของ GDP ภายในปี 2573

2.แนวทางการใช้งบประมาณเพื่อเป้าหมายเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ก้าวหน้า และเติบโตอย่างต่อเนื่องของสิงคโปร์

                   2.1 การให้เงินช่วยเหลือประชาชน ประชาชนในสิงคโปร์กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบจากการขึ้นภาษี GST จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 9 รัฐบาลสิงคโปร์จึงจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือด้วยการให้เงินสดตั้งแต่ 200 – 2,150 ดอลลาร์สิงคโปร์ การให้เงินประกันสุขภาพเพิ่มเติม (MediSave) การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 50 แต่ไม่เกินคนละ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ การมอบเงินช่วยเหลือหลังเกษียณ นอกจากนี้ยังให้เงินช่วยเหลือรายครอบครัว ได้แก่ การให้บัตรสมนาคุณ (CDC vouchers) ครัวเรือนละ 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อใช้ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคแทนเงินสด เป็นต้น

                   2.2 การลงทุนเพื่อพัฒนาคนชาติสิงคโปร์

                   (1) โครงการพัฒนาทักษะและศักยภาพ (Reskill/ Upskill) สำหรับคนทำงานระดับกลาง (Mid-career Reskill) เพื่อสามารถเข้าทำงานในสาขาเป้าหมาย โดยภาครัฐจัดฝึกอบรมและให้เงินสนับสนุนหลักสูตรรายละ 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินช่วยเหลือระหว่างการฝึกอบรมพัฒนาทักษะรายละ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ตลอด 24 เดือนของโครงการฝึกอบรม

                   (2) การจ่ายเงินสมทบให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,600 ดอลลาร์สิงคโปร์ ให้ได้รับเงินช่วยเหลืออีกปีละไม่เกิน 4,900 ดอลลาร์สิงคโปร์ และในปี 2568 จะเพิ่มเพดานรายได้เป็นต่ำกว่า 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

                   (3) ผู้จบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิค ITE Graduates (เทียบเท่าระดับ ปวช.) ที่เข้าเรียนต่อจนได้ประกาศนียบัตร (เทียบเท่าระดับ ปวส.) จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับเงินจำนวน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อเป็นทุนในการซื้อบ้านหรือเก็บไว้เพื่อการเกษียณ

                   2.3 การสนับสนุนภาคธุรกิจ

                   (1) ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายภาคเอกชน โดยการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Tax) ร้อยละ 50

แต่ไม่เกินปีละ 40,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ การมอบเงินสนับสนุนกิจการที่จ้างแรงงานสิงคโปร์จำนวน 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งการจัดฝึกทักษะแรงงานให้ธุรกิจ

                   (2) สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยการลงทุนด้านค้นคว้าวิจัยและพัฒนาธุรกิจเป็นเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ การเพิ่มเงินให้กับกองทุน National Productivity Fund เป็นเงิน 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และกองทุน Financial Sector Development Fund เป็นเงิน 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทั้งสร้างโครงการเสริมสร้างศักยภาพในตลาดแรงงาน

                   (3) ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ โดยประกาศลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ 2.0 เป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งการพัฒนาระบบเครือข่ายบรอดแบนด์ทั่วประเทศเป็น 10 กิกะบิตต่อวินาที                             

                   (4) ส่งเสริมภาคเอกชนสู่ความยั่งยืน โดยสนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมทั้งขยายเงินสนับสนุนในสาขาธุรกิจที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

                   2.4 การสร้างความยืดหยุ่นในสังคม

                   (1) การรักษาความมั่นคงทางพลังงาน โดยเปิดกองทุนพลังงานเพื่ออนาคตเป็นเงิน 5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition infrastructure)

                   (2) การก่อตั้งศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ (National Cybersecurity Command Centre) เพื่อต่อสู้และป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์

                   3) การสร้างความสามัคคีของคนในชาติ โดยการสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬาเพิ่มเติม การสนับสนุนกองทุนกีฬาทีมชาติสิงคโปร์ การจัดกิจกรรมและมหกรรมกีฬาที่สำคัญ ในสิงคโปร์รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมโครงการด้านศิลปวัฒนธรรม

มุมมองจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อ Budget 2024

นักเศรษฐศาสตร์ของ OECD กล่าวถึงการที่สิงคโปร์ประกาศเพิ่มภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นร้อยละ 15 ซึ่งจะเริ่มในเดือนมกราคม 2568 เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ 750 ล้านยูโรต่อปีขึ้นไปที่จะย้ายกำไรไปยังบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีภาษีต่ำ จะส่งผลให้การลงทุนของบริษัทต่างชาติในสิงคโปร์ลดลงจากเดิม ทั้งนี้สิงคโปร์จัดอยู่ในกลุ่มประเทศ Tax Haven เช่นเดียวกับหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง อย่างไรก็ดีสิงคโปร์ไม่ได้แข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจและภาษีเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ดึงดูดการลงทุนมายังสิงคโปร์ยังรวมถึงทรัพยากรคน การคมนาคมขนส่ง คุณภาพชีวิต เป็นต้น

นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจจากหนังสือพิมพ์ Strait Times เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจใน สิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นมากเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2565 และสูงสุดที่ร้อยละ 5.5 เมื่อต้นปี 2566 แม้ว่าปัจจุบันจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูง ดังนั้น การที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยการคืนภาษีเงินได้ การให้เครดิตสำหรับการลงทุนทางธุรกิจ และการช่วยเหลือธุรกิจในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล จึงเป็นปัจจัยที่ตรงกับความต้องการจากภาคเอกชนในสิงคโปร์

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหลายรายเห็นว่า งบประมาณปี 2567 เป็นงบประมาณทางเศรษฐกิจที่มองไปข้างหน้า เช่น การพัฒนา AI และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ และยังกำหนดมาตรการที่ดูแลช่วยเหลือความเป็นอยู่ประชาชนจากปัญหาเฉพาะหน้าได้ อย่างไรก็ดี งบประมาณนี้อาจยังไม่ส่งเสริมความยั่งยืนในมาตรการทางธุรกิจมากเท่าที่ควร ทั้งนี้รัฐบาลสิงคโปร์ควรเปิดเผยข้อมูลในการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณแต่ละโครงการให้สาธารณชนรับทราบต่อไปด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงสภาวะทางเศรษฐกิจในสิงคโปร์ที่ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเงินเฟ้อ ทำให้ค่าที่พักอาศัย ค่าสาธารณูปโภค รวมไปถึงภาษีสินค้า (GST) ที่เพิ่มเป็นร้อยละ 9 ในปี 2567 งบประมาณปี 2567 จึงมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจอย่างมาก ซึ่งเป็นการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานและสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลสิงคโปร์คาดหวังว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อุปสงค์น่าจะดีขึ้นในปีนี้ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจตลอดจนการใช้จ่ายงบประมาณเช่นนี้จะช่วยให้สิงคโปร์สามารถมี GDP เติบโตขึ้นร้อยละ 1 – 3 ในปี 2567

สำหรับนักธุรกิจและภาคเอกชนไทยที่สนใจตลาดสิงคโปร์ ควรศึกษาแนวโน้มและโอกาสจากนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณของสิงคโปร์เพื่อปรับใช้ต่อการดำเนินธุรกิจและโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจของสิงคโปร์ต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง

  • Featured Image Source: Canva