เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2567 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ได้จัดการบรรยายสรุปภาพรวมเศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงต้นปี 2567 และแนวโน้ม ผ่านระบบออนไลน์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสที่ 1/2567

GDP สิงคโปร์เติบโตร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 ที่เติบโตร้อยละ 0.5 โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ การผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

ภาคเศรษฐกิจที่เติบโต ได้แก่ (1) ข้อมูลและการสื่อสาร ธุรกิจการเงินและการประกันภัย เติบโตร้อยละ 4.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2566 ที่เติบโตร้อยละ 3.6 (2) ที่พักแรม อาหารและบริการ เติบโตร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2566 ที่เติบโตร้อยละ 2.0 โดยมีปัจจัยจากการจัดคอนเสิร์ตระดับโลก รวมถึงการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน และ (3) การค้าปลีกและค้าส่ง เติบโตร้อยละ 2.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2566 ที่เติบโตร้อยละ 1.0 โดยได้รับแรงหนุนจากการค้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุสิ้นเปลือง

ภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ได้แก่ (1) การก่อสร้าง เติบโตร้อยละ 4.3 ลดลงจากไตรมาส 4/2566 ที่เติบโตร้อยละ 5.2 เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ลดลง และ (2) การผลิต เติบโตร้อยละ 0.8 ลดลงจากไตรมาส 4/2566 ที่เติบโตร้อยละ 1.4

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสิงคโปร์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) MAS ประกาศข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 โดยมีปัจจัยจากการขึ้นภาษี GST รวมถึงค่าไฟฟ้าและก๊าซที่สูงขึ้นจากการขึ้นภาษีคาร์บอน ตลอดจนค่าธรรมเนียมบริการที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยในปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5–3.5 โดยปัจจัยที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของราคาอาหารและพลังงานโลก ความต้องการแรงงานภายในประเทศที่มากเกินคาด โดย MAS ประเมินว่าในไตรมาสถัดไปอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับสูง ก่อนที่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 และช่วงต้นปี 2568

อัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI-All Items inflation) ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2567 ปรับตัวลดลงเหลือร้อยละ 3.1 จากร้อยละ 4.0 ในไตรมาส 4/2566 โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อด้านการขนส่งในภาคเอกชนและที่พักอาศัยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

MAS จะรักษาอัตราการแข็งค่าของช่วงนโยบาย (policy band) S$NEER (Nominal Effective Exchange Rate) ไว้ โดยจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจสิงคโปร์และเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด รวมทั้งระมัดระวังความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ในภาพรวมรัฐบาลยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2567 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดย GDP จะเติบโตอยู่ระหว่างร้อยละ 1–3 เนื่องจากภาคการผลิตและภาคการเงินมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงิน Maybank ให้ความเห็นว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2567 ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากภาคการผลิตในไตรมาส 1/2567 ปรับตัวลดลง และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ฟื้นตัวได้ดีดังคาด นอกจากนี้การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาจชะลอตัวลง


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง