รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2566 และแนวโน้มในช่วงต่อไป

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ได้เผยแพร่เอกสารคาดการณ์ทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2566 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2566

GDP สิงคโปร์ไตรมาสที่ 2/2566 เติบโตร้อยละ 0.5 แบบ year-on-year โดยยังหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับ GDP เฉลี่ยในปี 2565 ที่เติบโตเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ร้อยละ 3.6 โดยปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์เงินเฟ้อ การลดลงของตลาดแรงงานซึ่งมีผลต่อการบริโภคส่วนบุคคล รวมถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ประเด็นรัสเซีย – ยูเครน ยังส่งผลให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะเริ่มปรับขึ้นในทางบวกในช่วงปลายปี

ภาคเศรษฐกิจที่หดตัวสูง ได้แก่ (1) ธุรกิจการเงินและการประกันภัย หดตัวร้อยละ 1.7 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยหดตัวมากที่สุดในสาขาธนาคารและการประกันภัย (2) การผลิต หดตัวร้อยละ 7.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกเนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงในทุกสาขาการผลิต

ภาคเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี ได้แก่ (1) ที่พักแรม เติบโตร้อยละ 13 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เนื่องจากมีผู้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้นหลังการเปิดประเทศ (2) อสังหาริมทรัพย์ เติบโตร้อยละ 12 เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานในส่วนของกลุ่มที่พักส่วนตัวและพื้นที่สำนักงานยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง (3) การก่อสร้าง เติบโตร้อยละ 6.8 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก เนื่องจากผลผลิตการก่อสร้างจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ด้านการเงินสิงคโปร์ปรับตัวในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัว

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ธนาคากลางสิงคโปร์ (MAS) ประกาศข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 4.2 และคาดการณ์ว่าในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของ สิงคโปร์จะลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 2.5 – 3.5 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยทยอยปรับตัวลงภายในสิ้นปีนี้

สถานการณ์การจ้างงานเริ่มปรับตัวไปในทางบวก

อัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ปริมาณการจ้างงานเพิ่มขึ้น 26,000 ตำแหน่ง โดยเป็นการจ้างงานชาวต่างชาติ (Non-Residents) สูงถึง 23,700 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การจ้างงานเติบโตขึ้นในสองภาคธุรกิจสำคัญ ได้แก่ (1) ภาคบริการ จำนวน 14,900 ตำแหน่ง (2) ภาคการเงินและการประกันภัย จำนวน 1,900 ตำแหน่ง

อัตราการปลดพนักงาน ลดลงอย่างต่อเนื่องคือ 3,200 ตำแหน่ง โดยจำนวนการปลดพนักงานส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิตและภาคบริการ

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

อัตราการเติบโตของ GDP สิงคโปร์ในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขาลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดย MTI  ได้ประกาศปรับลดอัตราคาดการณ์การเติบโตของ GDP สิงคโปร์ในปีนี้จากร้อยละ 0.5 – 2.5 เป็นร้อยละ 0.5 – 1.5 ทั้งนี้ การปรับตัวลงของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าใหญ่ของสิงคโปร์ เช่น สหรัฐฯ จีน และกลุ่ม EU มีแนวโน้มผ่อนคลายลง ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าของสิงคโปร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณาจากปัจจัยทั้งหมด เช่น ต้นทุนนำเข้าที่เริ่มทยอยลดลง ตลาดแรงงานในประเทศที่ผ่อนคลายมากขึ้นและปริมาณอุปสงค์/อุปทานที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์จะค่อย ๆ ลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ในระยะยาวเศรษฐกิจของสิงคโปร์จึงยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วยนโยบายและกลยุทธ์ทางด้านการค้าและการผลิตที่ผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าระดับโลก


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง