เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Trade and Industry – MTI) ของสิงคโปร์ ได้ประกาศอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 1.1 โดยเป็นผลมาจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามในต่างประเทศที่ส่งผลต่อภาพรวมอุปสงค์ของตลาดโลกหดตัวในปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 1 – 3

ภาพรวมเศรษฐกิจของสิงคโปร์ประจำปี 2566

ในปี 2566 GDP ของสิงคโปร์เติบโตร้อยละ 1.1 (ลดลงจากร้อยละ 3.8 ในปี 2565) โดย GDP สิงคโปร์ มีมูลค่า 480,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ลดลงจาก 643,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในปี 2565) โดยภาคการผลิตของสิงคโปร์หดตัวลงกว่าร้อยละ 4.3 (จากที่เคยเติบโตกว่าร้อยละ 2.7 ในปี 2565) แต่ภาคก่อสร้างยังสามารถเติบโตได้ร้อยละ 5.2 (เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4.6 ในปี 2565) อันเป็นผลมาจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การขยายสนามบิน การขยายท่าเรือ การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน การก่อสร้างคอนโดมีเนียม และภาคอุตสาหกรรมบริการที่ยังขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 (แม้จะลดลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 2565)

สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีการจ้างงานสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากสวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา (ข้อมูลจาก OECD) ตลาดการจ้างงานในสิงคโปร์มีการแข่งขันสูง โดยการจ้างงานในระดับผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เทคนิคของสิงคโปร์ในปี 2566 มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2565 ขณะที่ต้นทุนในการประกอบธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 ได้แก่
(1) ค่าจ้างแรงงานในทุกภาคเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และ (2) ค่าดำเนินธุรกิจในภาคการผลิต เช่น ค่าแก๊สและ
ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มภาษีคาร์บอนและภาษีสินค้า GST รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในสิงคโปร์ แม้ว่าจะเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงปลายปี 2566 จะปรับลดลงมาคงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.7 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI All-item) ตลอดปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8

มุมมองของสิงคโปร์ต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2567

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังค่อย ๆ ผ่อนคลายในช่วงครึ่งปี 2567 ในสภาวะทางการเงินที่ยังตึงตัวและจะปรับตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอันเป็นผลจากนโยบายผ่อนปรนทางการเงินที่ผ่านมา โดยจะส่งผลต่อภาคการบริโภคและการลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปน่าจะยังคงชะลอตัวในครึ่งแรกของปี

เศรษฐกิจของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 น่าจะยังไม่แจ่มใสนัก เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกจะยังชะลอตัว อย่างไรก็ดี การเติบโตน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากอุปสงค์ของตลาดโลก

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะมาเลเซียและไทยจะมีทิศทางบวกจากปริมาณการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้น

ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของโลกที่สำคัญและยังคงดำเนินต่อไปในปี 2567 ได้แก่
(1) ความขัดแย้งและสงครามทั้งอิสราเอล – กลุ่มฮามาส และสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่อาจปะทุเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกและส่งผลเสียต่อภาคการค้าระหว่างประเทศ (2) นโยบายการเงินแบบตึงตัวจะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ระบบการเงินการธนาคารมีความเปราะบางสูง โดยหากสถานการณ์การเงินตึงตัวยังคงดำเนินต่อไปในระยะยาวอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปได้ช้า

ทิศทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2567

ภาคการผลิตและการค้าของสิงคโปร์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอันเป็นผลจากความต้องการของตลาดโลก

ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมแม่นยำ ทำให้ภาคการผลิตของสิงคโปร์กลับมามีทิศทางบวก รวมทั้งสินค้ากลุ่มเครื่องจักรกล อุปกรณ์และเครื่องมือ จะได้รับอานิสงส์จากความต้องการชิ้นส่วนและอุปกรณ์โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น

ภาคการท่องเที่ยว อาหารและที่พัก บริการด้านการท่องเที่ยว และการบินของสิงคโปร์มีทิศทางบวกอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อสังเกต

การเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังสิงคโปร์เริ่มชะลอตัวลง แต่การลงนามความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วัน ระหว่างสิงคโปร์กับจีน ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 น่าจะช่วยผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวมายังสิงคโปร์ให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสิงคโปร์มีจำนวนกว่า 13.6 ล้านคน ส่วนมากเป็นผู้เดินทางจากอินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย โดยคิดเป็นร้อยละ 71 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้าสิงคโปร์

ปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ของตลาดโลกและในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนสภาวะค่าครองชีพและเงินเฟ้อในปัจจุบัน ทำให้สิงคโปร์เร่งเน้นนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และเริ่มผลักดัน AI อย่างจริงจัง รวมทั้งการ upskill/ reskill คนชาติให้ยังสามารถอยู่ในตลาดแรงงานและแข่งขันได้ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนตามเป้าหมาย Singapore Green Plan 2030 และ Net Zero 2050


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง

  • Featured Image Source: Canva