อุปสงค์ของพลังงานและความสำคัญของพลังงานสะอาดในสิงคโปร์  

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้อุปสงค์ต่อพลังงานลดลงร้อยละ 2 – 4 เมื่อปี 2563 แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อุปสงค์พลังงานในสิงคโปร์เริ่มขยายตัวขึ้นดังเดิม เนื่องจากสิงคโปร์ควบคุมการแพร่ระบาดฯ ได้ดีและอัตราการฉีดวัคซีนฯ ร้อยละ 82 ของประชากร ทำให้ปัจจุบันสิงคโปร์เริ่มเดินหน้าการฟื้นฟู เศรษฐกิจ และเปิดประเทศ อย่างมั่นใจ ซึ่งในด้านพลังงาน สิงคโปร์ตระหนักพยายามขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานไปพร้อมกับการส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยในปีนี้ สิงคโปร์ได้ประกาศแผน Singapore Green Plan 2030 ซึ่งตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งและการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษนี้ รวมทั้งแผน Enhanced 2030 Nationally Determined Contribution (NDC) เพื่อลดความเข้มข้นของการปล่อยมลพิษในระยะยาว

 อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังคงมีความท้าทายในการปล่อยก๊าซคาร์บอน เนื่องจากร้อยละ 40 มาจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศ เนื่องจากสิงคโปร์ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากถึงร้อยละ 96 ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น อุปสงค์การใช้ไฟฟ้าของสิงคโปร์มีแนวโน้มเพิ่งสูงขึ้นในช่วงทศวรรษข้างหน้า เนื่องจากสิงคโปร์จะส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กอปรกับภาคการผลิต (ยังคงมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 20 – 25 ของ GDP สิงคโปร์ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และโลจิสติกส์ของภูมิภาคทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานของสิงคโปร์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าความต้องการไฟฟ้าของสิงคโปร์จะมีอัตราการเติบโตต่อปี (Compound Annual Growth Rate – CAGR) ที่ร้อยละ 2.5 – 3.1 จากการเปลี่ยนแปลงของประชากร อุณหภูมิ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งในช่วงปี 2552 – 2562 CAGR ของสิงคโปร์เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.6

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (Energy Market Authority – EMA) ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอกับการเติบโต โดยเฉพาะต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง เช่น ศูนย์ข้อมูล (Data Centres-DC) รถยนต์ EV เทคโนโลยีการเกษตร ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 เฉพาะศูนย์ข้อมูล อาทิ คลาวด์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างยิ่งใช้ไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 7 ในสิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์ยังคงดึงดูดผู้ประกอบการในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (ล่าสุด Temasek ลงทุนกับ Ocra ของสหรัฐฯ) เนื่องจากสิงคโปร์มีเสถียรภาพทางการเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ดังนั้น แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรม EV และ DC สิงคโปร์จึงจำเป็นต้องเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์จึงเน้นการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 

ภูมิหลังโครงสร้างด้านพลังงานในสิงคโปร์ และการแสวงหาพลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้า

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สิงคโปร์มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญในสิงคโปร1 โดยเพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติและลดการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลงอย่างยิ่ง นอกจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงเพื่อการคมนาคมแล้ว ปัจจัยการขยายของตัวเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น โดยก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรหลักชนิดหนึ่งในการผลิตกระแสไฟฟ้าในสิงคโปร์ด้วย ทั้งนี้ เมื่อปี 2553 ก๊าซธรรมชาติคิดเป็นเพียงร้อยละ 77 ของพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในสิงคโปร์ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 96 เมื่อปี 2563 รองลงมาคือแหล่งพลังงานอื่น ๆ ร้อยละ 2.8 พลังงานถ่านหิน ร้อยละ 1 และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.2 จากร้อยละ 20.2 เมื่อปี 2564

สิงคโปร์ได้พัฒนาพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้โดยเฉพาะในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม โดยกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในสิงคโปร์ เติบโตขึ้นกว่า 7 เท่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา หรือจากน้อยกว่า 60 เมกะวัตต์ ในปี 2558 เพิ่มเป็น 444 เมกะวัตต์ ในปี 2564  สิงคโปร์จึงเป็นหนึ่งในเมืองที่มีพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดในโลก ซึ่งสิงคโปร์ก็ลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์และเซลล์แสงอาทิตย์ในไทยด้วย และเป็นอุตสาหกรรมลำดับต้นที่สิงคโปร์ลงทุนในไทย

สิงคโปร์ยังมีโครงการที่เกิดจากการคิดนอกกรอบ เช่น ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ บนอ่างเก็บน้ำ Tengeh โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำนอกชายฝั่งขนาด 5 เมกะวัตต์ ในช่องแคบยะโฮร์ และเจ้าของโรงงาน JTC Corp และ บริษัท Shell กำลังพิจารณาใช้พื้นที่บนเกาะ Semakau ที่เกิดจากการนำขยะมาฝังกลบ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 112 สนาม ซึ่งอาจเป็นโซลาฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสิงคโปร์ เป้าหมายของสิงคโปร์ คือเพิ่มการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ 4 เท่าให้เป็น 1.5GWp (กิกะวัตต์) ภายในปี 2568 เพื่อให้เพียงพอที่จะจ่ายพลังงานได้ประมาณ 260,000 ครัวเรือนต่อปี

นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้จัดตั้งคลังผลิตและเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เมื่อปี 2556 โดยมีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของประเทศ นาย Ngiam Shih Chun หัวหน้าผู้บริหารระดับสูงของ EMA ให้ความเห็นว่าการเปิดดำเนินการนี้ช่วยให้สิงคโปร์สามารถหาแหล่งก๊าซธรรมชาติได้นอกเหนือจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ปัจจุบัน สิงคโปร์นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ สิงคโปร์เริ่มจัดทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อปี 2558 ซึ่งถือเป็นสัญญาแรกในเอเชีย นับเป็นก้าวสำคัญเพื่อช่วยจัดการความเสี่ยงด้านราคา การก่อตั้ง SGX Electricity Futures Market นี้ทำให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบสภาพคล่องของตลาดได้

ในด้านการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาด นาย Martin Lim ผู้บริหารระดับสูงของ Electrify สตาร์ทอัพด้านตลาดค้าปลีกพลังงานแห่งแรกในสิงคโปร์ เห็นว่าภาครัฐและเอกชนสิงคโปร์ จะส่งเสริมการใช้พลังงาน 4 ประเภท (four switches) ตามแผนงานด้านพลังงานของสิงคโปร์ ได้แก่ 1) พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพมากที่สุดสำหรับสิงคโปร์ และเป็นหัวใจของการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคต 2) ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุด และเป็นแหล่งพลังงานที่เสถียรและปลอดภัย สามารถช่วยกระตุ้นการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากในประเทศ 3) โครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาค และ 4) เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น การดักจับไฮโดรเจนและคาร์บอน

แหล่งพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

การที่แผนด้านพลังงานของสิงคโปร์ระบุเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาค สะท้อนว่าสิงคโปร์ ยังคงต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานจากต่างประเทศ และประสงค์จะเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดจากประเทศ เพื่อนบ้าน ซึ่งสิงคโปร์กำลังทดลองนำเข้าไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์จากมาเลเซีย (ซึ่งคล้ายกับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน) การทดลองนี้จะสร้างองค์ความรู้ในการขยายการนำเข้าจากส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาค

บริษัท Sun Cable สัญชาติออสเตรเลียและสิงคโปร์ กำลังสร้างโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแถบตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยวางแผนที่จะส่งออกมายังสิงคโปร์โดยใช้สายเคเบิลใต้น้ำ

EMA ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนสูงถึง 100 เมกกะวัต์ ผ่านโครงการบูรณาการพลังงาน สปป. ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (LTMS-PIP) ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 39 (วันที่ 13 – 16 ก.ย. 64) โดยสื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า บริษัท Keppel Electric และ Electricite Du Laos (EDL) จะเริ่มดำเนินโครงการโดยสำรวจความเป็นไปได้ในการส่งไฟฟ้าพลังงานน้ำ (hydropower) จากลาว ผ่านไทยและมาเลเซีย ไปยังสิงคโปร์ ในปี 2565 – 2566 ซึ่งการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดจะช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดคาร์บอนได้

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต      

นาย Sharad Somani หัวหน้าที่ปรึกษาด้านโครงสร้างพื้นฐานของ KPMG ในสิงคโปร์ ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเสริมสร้างโอกาสให้สิงคโปร์ในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสู่อนาคตด้านพลังงานที่มั่นคงและอาจกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ยั่งยืนระดับโลกโดยใช้ประโยชน์จาก ecosystem ของการเป็นผู้นำด้านพลังงาน อีกทั้งกรอบแนวคิดใหม่ ๆ ด้านพลังงาน เช่น การออกกฎหมายอนุรักษ์พลังงานและภาษีคาร์บอนสำหรับธุรกิจ

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การสร้างโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาคเป็น “ภารกิจทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่” อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการเติบโตด้วย 1) ความแตกต่างในโครงสร้างตลาด (โดยที่สิงคโปร์เป็นตลาดไฟฟ้าที่มีการแข่งขันเสรีอย่างเต็มที่) 2) ลักษณะอุปสงค์-อุปทานพลังงานที่แตกต่างกัน 3) ขาดโครงข่ายการส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งซึ่งเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศต่างๆ

จากสถิติของ SP ปี 2563 ประชากรสิงคโปร์ประสบปัญหาการหยุดชะงักของการจ่ายกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยเพียง 9 วินาที/ครัวเรือน/ปี


1 ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990s  สิงคโปร์ได้จัดตั้งหน่วยงาน Singapore Power (SP) เพื่อดูแลสาธารณูปโภคด้านพลังงานภายในสิงคโปร์ โดยควบรวมภารกิจด้านไฟฟ้าของคณะกรรมการสาธารณูปโภค (PUB) ที่เป็นหน่วยงานส่ง/จำหน่ายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในประเทศแบบผูกขาด และลงทุนเพื่อพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งดำเนินการโดยบริษัทไฟฟ้า (Generation Company – GenCo) รายใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท PowerSenoko บริษัท PowerSeraya และบริษัท Tuas Power ต่อมาเมื่อปี 2544 เครือ Temasek Holdings ได้ควบรวมกิจการของบริษัท PowerSenoko และบริษัท PowerSeraya ทำให้ Temasek ครอบครองการผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมด เนื่องจากเมื่อรวมกับบริษัท Tuas Power ที่ Temasek เป็นเจ้าของอยู่แล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าของ 3 บริษัทรวมกันคิดเป็นร้อยละ 83 ของโครงข่ายไฟฟ้าทั้งหมดในสิงคโปร์ นอกจากนี้สิงคโปร์ยังได้เริ่มต้นนำเข้าก๊าซธรรมชาติผ่านท่อข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซีย ผ่านข้อตกลงซื้อก๊าซระยะยาวกับบริษัท Pertamina ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลอินโดนีเซีย และบริษัท Sembcorp Gas ซึ่งถือเป็นท่อส่งก๊าซส่งออกข้ามพรมแดนแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงดังกล่าวด้วย ถึงแม้ปัจจุบัน สิงคโปร์จะมีบริษัทไฟฟ้า (GenCo) เพิ่มขึ้นเป็น 16 ราย แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งก็ดำเนินการโดย 3 บริษัทข้างต้น และบริษัทอื่น ๆ ที่ Temasek ถือหุ้นอยู่ด้วย อาทิ Keppel


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง