รัฐบาลสิงคโปร์เร่งศึกษาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

สิงคโปร์มีความคืบหน้าในแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมาย net zero โดยรัฐบาลสิงคโปร์กำลังศึกษาศักยภาพการนำเชื้อเพลิงชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพที่ยั่งยืนไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น การผลิตไฟฟ้า การขนส่ง อุตสาหกรรมหนัก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

แผนการศึกษาและพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ1และทรัพยากรชีวภาพ2 ของรัฐบาลสิงคโปร์

ในปี 2565 สิงคโปร์ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากกว่า 70,000 ตันในอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทร และเที่ยวบินของ Singapore Airlines (SIA) ทุกเที่ยวบินได้ใช้เชื้อเพลิงการบินแบบผสมผสานที่ยั่งยืน (Blended Sustainable Aviation Fuel) ซึ่งทำจากน้ำมันสำหรับประกอบอาหารและไขมันสัตว์

ในขั้นต่อไป (1) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) และสำนักเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสิงคโปร์ (National Climate Change Secretariat – NCCS) เปิดให้มีการประกวดราคาเพื่อค้นหาแหล่งเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานทดแทนจากธรรมชาติที่มีศักยภาพทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ กว่า 8 ประเทศ เช่น เศษอาหารและไขมันสัตว์ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความคุ้มค่าในการลดการปล่อยมลพิษ โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่สำหรับเชื้อเพลิงและวัตถุดิบตั้งต้น และการประยุกต์ใช้ที่เหมาะสมต่อการใช้งานในสิงคโปร์จนถึงปี 2593 (2) ในปี 2568 Tuas Nexus หรือโรงบำบัดน้ำเสียและขยะมูลฝอยแบบบูรณาการแห่งแรกของสิงคโปร์ จะเริ่มนำเศษอาหารและน้ำที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในโรงงานและภาคครัวเรือนในสิงคโปร์ และ (3) สิงคโปร์จะรวบรวมชีวมวลจากพืชสวน เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ และเศษหญ้า เพื่อใช้ในการผลิตพลังงานผ่านเทคโนโลยีการเผาไหม้ที่สวนพฤกษศาสตร์ Gardens by the Bay และ Jurong Island ทั้งนี้ การเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 60 – 95

นักวิเคราะห์และนักวิชาการประเมินว่า (1) สิงคโปร์มีโรงกลั่นเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น โรงกลั่นน้ำมัน และการขนส่งทางทะเลที่สะดวก สิงคโปร์จึงควรนำเข้าเชื้อเพลิงชีวภาพจากประเทศต่างๆ มากขึ้น และแปรรูปเพื่อส่งออกต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้สิงคโปร์เป็นผู้นำในการแปรรูปเชื้อเพลิงชีวภาพได้ (2) สิงคโปร์มีข้อได้เปรียบจาก อุตสาหกรรมเคมีและการกลั่นเชื้อเพลิงที่มีเสถียรภาพ สามารถแยกสาร กลั่น และผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาแม้เพียงเล็กน้อย จะสามารถเปลี่ยนจากปิโตรเคมีไปเป็นเชื้อเพลิงและทรัพยากรชีวภาพได้อย่างรวดเร็ว (3) การหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะช่วยให้สิงคโปร์มีความหลากหลายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย แม้ว่าสิงคโปร์จะมีพื้นที่ขนาดเล็กและมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรชีวภาพ แต่ก็มีสามารถจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนในตลาดโลกได้ และ (4) การที่สิงคโปร์จะนำเข้าเชื้อเพลิงชีวภาพ ต้องคำนึงถึงอายุการเก็บรักษา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4-6 เดือนในสภาพแวดล้อมแบบควบคุม

มุมมองของนักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความยั่งยืน

เดือนมีนาคม 2566 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล่าสุดและแจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เลวร้ายลง และวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรงขึ้น IPCC จึงต้องการเรียกร้องให้ชุมชนและภาคธุรกิจดำเนินการอย่างเด็ดขาดและรวดเร็วเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

IPCC ขอให้ภาคธุรกิจและชุมชน มองถึงส่วนรวมด้วยมุมมองเชิงมหภาคยิ่งขึ้น รวมถึงมองไปไกลกว่าแค่ประเด็นความยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนควรมุ่งสู่ “การคิดเชิงปฏิรูประบบ” เพื่ออนาคต และใช้วิธีการแบบผสมผสาน “glocal” หรือวิธีแก้ปัญหาจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับโลก ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้  

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

นอกจากเป้าหมายการใช้พลังงานไฮโดรเจนและพลังงานชีวภาพแล้ว สิงคโปร์ยังคงเดินหน้าแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาดจากต่างประเทศ และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดร่วมกับต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 สิงคโปร์และสหราชอาณาจักรได้จัดทำความร่วมมือ MoU on Green Economy Framework ซึ่งเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การคมนาคมสีเขียว (2) พลังงานคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และ (3) ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนและการเงินที่ยั่งยืน และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 สิงคโปร์และสหรัฐฯ ได้ประกาศ Singapore-US Third Joint Ministerial Statement on Energy Cooperation เพื่อดำเนินโครงการ The Joint Feasibility Study on Regional Energy Connectivity เพื่อส่งเสริมการพัฒนาข้อริเริ่ม ASEAN Power Grid และเครือข่ายพลังงานในภูมิภาคที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

 สถานเอกอัครราชทูตฯ มีข้อสังเกตว่า สิงคโปร์เดินหน้าความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ไฮโดรเจน และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมาย carbon net zero รวดเร็วกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนรวมถึงประเทศไทย และเริ่มแสดงบทบาทนำในการสร้างเครือข่ายพลังงานสะอาดระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมทั้งใช้ประโยชน์จากกลไกอาเซียนในการแสวงหาพลังงานสะอาดจากประเทศในภูมิภาค เช่น โครงการ LTMS-PIP ทำให้สิงคโปร์เริ่มซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดจาก สปป. ลาวได้ตั้งแต่กลางปี 2565 พัฒนาการในด้านพลังงานสะอาดของสิงคโปร์ จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับประเทศไทย การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและทรัพยากรหมุนเวียนทางชีวภาพตามโมเดล เศรษฐกิจ BCG นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย carbon net zero แล้ว ยังอาจช่วยลดปัญหาฝุ่นควันจาก PM 2.5  เช่น บริษัท SCG ได้เริ่มดำเนินโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ที่ช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรเผาฟางข้าว และลดปัญหาระดับชาติเรื่องฝุ่น PM 2.5 โดยเปิดรับซื้อผลผลิตการเกษตรเหลือทิ้งตั้งแต่ปลายปี 2562 ในพื้นที่รอบโรงงานปูนซีเมนต์ที่จังหวัดสระบุรี ลำปาง และนครศรีธรรมราช รวมทั้งขยายจุดรับซื้อไปยังเครือข่ายโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคทั่วประเทศ โดยโรงงานรับซื้อฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพดเป็นหลักเพื่อนำมาอัดแปรรูปเป็นเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวล (Energy Pellet) สำหรับใช้ในหม้อเผาของโรงงานปูนซีเมนต์ ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน


1 เชื้อเพลิงที่ดัดแปลงมาจากมวลชีวภาพ เช่น ก๊าซชีวภาพ ไบโอมีเทน และไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียย่อยสารอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร/มูลสัตว์

2 วัตถุดิบจากมนุษย์หรือสัตว์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น ของเสียจากการเกษตร ป่าไม้ เศษอาหาร ของเสียจากน้ำมันปาล์ม


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง