สิงคโปร์กำลังเผชิญกับการแข่งขันด้านบริการทางการแพทย์ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ในราคาที่ถูกกว่า โดยข้อมูลจาก IHH Healthcare Singapore ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ พบว่าในปี 2566 ผู้ป่วยต่างชาติที่มารับบริการในสิงคโปร์คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้ป่วยทั้งหมด ลดลงจากปี 2562 ที่มีผู้ป่วยต่างชาติกว่าร้อยละ 20 โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ลดลงคือกลุ่มที่มาเพื่อตรวจสุขภาพและบริการส่องกล้องตรวจร่างกาย

ปัจจัยที่ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติลดลง

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผู้ป่วยจากอินโดนีเซีย ศรีลังกา เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ต่างเดินทางมารักษาพยาบาลที่สิงคโปร์ ตั้งแต่การตรวจร่างกายไปจนถึงการส่องกล้อง การผ่าตัดและการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิงคโปร์มีผู้ป่วยต่างชาติประมาณ 40,000 รายต่อเดือนที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการดูแลทางด้านสุขภาพในสิงคโปร์

Singapore Medical Group (SMG) ได้วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่จำนวนผู้ป่วยต่างชาติลดลงอาจมาจากค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นและการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำให้ความสามารถในการให้บริการด้านสุขภาพในสิงคโปร์มีข้อจำกัด นอกจากนี้ Dr. Loo Choon Yong ประธานกรรมการบริหาร Raffles Medical Group กล่าวว่าการสูญเสียตลาดของผู้ป่วยต่างชาติเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่สูงขึ้น และค่าเงินของสิงคโปร์ที่แข็งกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการเพิ่มขึ้นของคู่แข่งในภูมิภาคแล้ว อินโดนีเซียซึ่งเป็นลูกค้าต่างชาติหลักด้านบริการทางการแพทย์ของสิงคโปร์ได้พัฒนาศูนย์การแพทย์ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เช่น โรงพยาบาล Bali International Hospital และโรงพยาบาลแห่งอื่นที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ลดโอกาสในการดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติให้มาใช้บริการทางการแพทย์ในสิงคโปร์

การรับมือกับจำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่ลดลง

ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนในสิงคโปร์พยายามเน้นกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการรักษาโรคที่รุนแรงและมีความซับซ้อนและเป็นโรคที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การใช้เทคโนโลยี CAR (Chimeric Antigen Receptor) T-cell Therapy ในการรักษาโรคมะเร็ง การปลูกถ่ายเซลล์ การรักษาโรคทางเดินอาหารด้วยการปลูกถ่ายแบคทีเรีย การปลูกถ่ายตับและไต การนำยาชนิดใหม่มาใช้ในการรักษา รวมถึงการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton Therapy) ซึ่งลดผลข้างเคียงที่พบในการรักษาโรคมะเร็งโดยวิธีรังสีบำบัดทั่วไปและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งในการรักษาที่ยังสามารถดึงดูดให้ผู้ป่วยต่างชาติเดินทางมายังสิงคโปร์ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2566 กลุ่มโรงพยาบาลในสิงคโปร์ที่มีการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีนี้ ได้แก่ (1) ศูนย์มะเร็งแห่งใหม่ของ Singapore Institute of Advanced Medicine Holdings (SAM) (2) IHH Healthcare Singapore และ (3) ศูนย์มะเร็งแห่งชาติสิงคโปร์

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ปัจจุบันอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในประเทศไทยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศไทยมีเทคโนโลยีการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าเทียบเท่ากับสิงคโปร์ โรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนหลายแห่งมีเครื่องมือที่ทันสมัย มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญจำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลไทยมีนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยในระดับนานาชาติ ดังนั้น หากมีการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังมากขึ้น และเน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรักษาโรคเรื้อรัง (Chronic disease) ซึ่งผู้ป่วยมักต้องเดินทางมากับครอบครัวและต้องพำนักในระยะยาว จะช่วยส่งเสริมให้เกิดรายได้เข้าประเทศในภาคธุรกิจอื่นร่วมด้วย เช่น ภาคธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ท่องเที่ยว และธุรกิจบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ธุรกิจด้าน Medical and Wellness ของไทยควรพัฒนาแพคเกจที่หลากหลายมากขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดสิงคโปร์และตลาดประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เปลี่ยนไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง