Scam หรือ การหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ถือเป็นอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในระดับบุคคล ภาคธุรกิจ องค์กร รวมถึงระดับประเทศและระหว่างประเทศ

จากการสำรวจของ Global Anti-Scam Alliance (GASA) ตัวเลขความเสียหายจากการหลอกลวงเงินทางออนไลน์ทั่วโลกระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงสิงหาคม 2566 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ก้าวกระโดดจากมูลค่าความเสียหายในปี 2564 ที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่มูลค่าความเสียหายโดยเฉลี่ยของเหยื่อจากการหลอกลวงเงินทางออนไลน์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือรายละ 5,530 ดอลลาร์สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์เป็นอันดับสอง เสียหายเฉลี่ยรายละ 5,167 ดอลลาร์สิงคโปร์ และออสเตรียเป็นอันดับสาม เสียหายเฉลี่ยรายละ 4,779 ดอลลาร์สิงคโปร์

การหลอกลวงเงินทางออนไลน์ในสิงคโปร์

รายงานจาก Singapore Police Force (SPF) ชี้ให้เห็นแนวโน้มมูลค่าความเสียหายจากการหลอกลวงเงินทางออนไลน์ในสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มูลค่าความเสียหายดังกล่าวสูงถึง 660 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มากกว่าปี 2564 ซึ่งมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ 632 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รูปแบบอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยในสิงคโปร์คือการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อหลอกสอบถามข้อมูลส่วนบุคคของเหยื่อ เช่น เลขบัตรเครดิตและข้อมูลบัญชีธนาคาร โดยในปี 2565 มีเหยื่อกว่า 7 พันรายในสิงคโปร์ที่สูญเงินไปกับการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 16.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ นอกจากนี้ข้อความที่เข้าข่ายการหลอกลวงเงินซึ่งถูกสกัดกั้นโดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ มีจำนวนสูงถึง 2.8 แสนข้อความในแต่ละเดือน (อ้างอิงข้อมูลจาก Infocomm Media Development Authority: IMDA) โดยปัจจัยที่เอื้อต่อขบวนการหลอกลวงเงินทางออนไลน์ในปัจจุบัน ได้แก่ (1) การใช้เทคโนโลยี Deep Fake หรือปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการสร้างเนื้อหา (Generative Artificial Intelligence) สร้างภาพ เสียง และวิดีโอ เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่อและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และ (2) ขบวนการหลอกลวงทางออนไลน์ซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายและเรียกเงินคืนเป็นไปได้ยากลำบาก ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของรัฐบาลสิงคโปร์ในการเอาผิดและจับกุม

มาตรการและนโยบายป้องกันภัยคุกคามทางออนไลน์ของสิงคโปร์

การสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามทางออนไลน์อาจไม่ใช่แนวทางการปฏิบัติที่เห็นผลอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิธีการหลอกลวงมีความแนบเนียนและซับซ้อนยิ่งขึ้นเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รัฐบาลสิงคโปร์จึงมุ่งเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเพื่อสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ผ่านมาตรการและนโยบายอันหลากหลาย ได้แก่

(1) การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) เช่น การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่าง Cyber Security Agency of Singapore (CSA) กับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Google และ Microsoft ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลภัยคุกคามในโลกออนไลน์แบบอัจฉริยะระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การต่อสู้กับกิจกรรมที่มุ่งร้ายและอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการต่อสู้กับอาชญากรรมออนไลน์แก่ทั้งสองฝ่าย

(2) การจัดตั้งศูนย์ต่อต้านขบวนการหลอกลวงเงินทางออนไลน์ (Singapore Anti-Scam Command) ซึ่งอยู่ภายใต้ Singapore Police Force (SPF) เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคธนาคารและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของสิงคโปร์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และสามารถอายัดบัญชีของขบวนการหลอกลวงเงินทางออนไลน์ได้ทันท่วงที

(3) การจัดการฝึกอบรม SG Cyber Leadership and Alumni Program ซึ่งมีหลักสูตรให้บริการตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับผู้บริหาร และเปิดให้ผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศเข้าร่วมอบรม สร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นปัญหาของโลกออนไลน์ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้เงินสนับสนุนโครงการนี้ไปแล้วกว่า 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และจะขยายกรอบเวลาของวงเงินสนับสนุนดังกล่าวต่อไปอีก 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567 ถึง 2569

บทบาทของสิงคโปร์ในการกำหนดระเบียบโลกดิจิทัลเชิงรุกในระดับนานาชาติ

นาย เฮง สวี เกียต (Heng Swee Keat) รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้กล่าวระหว่างการประชุม Singapore International Cyber Week เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าสิงคโปร์จะสามารถเป็นผู้นำในการกำหนดระเบียบโลกดิจิทัลได้ ผ่านการดำเนินงาน 3 ลักษณะ ได้แก่

(1) การสร้างความร่วมมือข้ามประเทศและกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ United Nations Open-Ended Working Group ด้านความมั่นคงและการใช้งานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ยังได้จัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจดิจิทัลกับออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้

(2) การสร้างแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศโดยยึดระเบียบข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามร่วมกัน ทั้งระเบียบข้อบังคับในเชิงเทคนิคและการใช้พื้นที่ออนไลน์โดยสันติ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการดำเนินงานแล้ว ยังช่วยลดโอกาสของการเกิดความขัดแย้งบนพื้นที่ออนไลน์ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

(3) การส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามจากโลกออนไลน์ของนานาประเทศ สิงคโปร์ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อาเซียน-สิงคโปร์ (ASEAN – Singapore Cybersecurity Centre of Excellence) ขึ้นเมื่อปี 2562 โดยเป็นส่วนขยายของ ASEAN Cyber Capacity Programme (ACCP) เพื่อให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านการวิจัยและจัดอบรมด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งดำเนินการมาแล้วมากกว่า 50 หลักสูตรให้แก่เจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิกกว่า 1,500 รายในช่วงที่ผ่านมา

รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงความจำเป็นในการเร่งดำเนินการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมาก เนื่องจากมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการหลอกลวงทางออนไลน์ในสิงคโปร์สูงติดอันดับหนึ่งของโลก และอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อความเชื่อมั่นของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางด้านการเงินของภูมิภาคและประเทศแนวหน้าที่ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งล้วนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการสร้างขีดความสามารถ ความตระหนักรู้ของภาคธุรกิจและประชาชนรวมถึงการเลือกดำเนินนโยบายเชิงรุกทั้งในระดับประเทศ ทวิภาคีและพหุภาคี สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ดังกล่าว ซึ่งหากสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากจะลดความเสียหายที่เกิดขึ้นในระดับบุคคลแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ ในการดำเนินธุรกิจและการค้าดิจิทัลทั้งในสิงคโปร์และในภูมิภาค


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง