แม้จะมีความพยายามในการปราบปรามการฉ้อโกงออนไลน์ สิงคโปร์ยังคงประสบปัญหาคนในประเทศถูกหลอกลวงผ่านวิธีต่าง ๆ โดยวิธีการที่พบบ่อยที่สุดในสิงคโปร์มี 3 รูปแบบ ได้แก่ การหลอกลวงหรือสแกม (scams) การใช้โปรแกรมควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและเรียกค่าไถ่ (ransomware) และการฟอกเงิน (money laundering)

สำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์เปิดเผยว่า ในปี 2566 ผู้เสียหายจากสแกมในสิงคโปร์สูญเงินกว่า 651.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 660.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2565 และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่จำนวนเงินที่สูญเสียให้สแกมไม่ได้พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จำนวนคดีสแกมยังคงเพิ่มขึ้นจาก 31,728 คดี ในปี 2565 เป็น 46,563 คดีในปี 2566 โดยประเภทสแกมที่พบมากที่สุดในสิงคโปร์ ได้แก่ การหลอกลวงให้ลงทุน การหลอกลวงผ่านการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการหลอกลวงแกล้งเป็นคนรัก ซึ่งการหลอกลวงให้ลงทุนทำให้เกิดความเสียหายมากที่สุดในปี 2566 รวมกว่า 204.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ความพยายามของภาคเอกชนเพื่อป้องกันสแกมเมอร์สำหรับผู้บริโภค

หนึ่งในสแกมที่พบมากที่สุดในสิงคโปร์คือการหลอกลวงผ่านการซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าที่เป็นที่นิยม เช่น Carousell Shopee และ Facebook Marketplace ในช่วงการแสดงคอนเสิร์ต Eras Tour ของ Taylor Swift ที่ผ่านมา พบการนำบัตรคอนเสิร์ตมาจำหน่ายต่อในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เนื่องจากความต้องการที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อไม่ได้พิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซื้อจากต่างประเทศซึ่งเป็นกลุ่มที่ง่ายต่อการถูกหลอก

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์ได้จัดการประชุมเกี่ยวกับความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ Google (Google’s inaugural Asia-Pacific Online Safety Dialogue) โดยมีตัวแทนจากบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Google และ Meta ได้หารือถึงปัญหาการหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสร้างความร่วมมือและหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นาง Tan Su Lin ผู้อำนวยการฝ่ายของแอปพลิเคชัน Carousell กล่าวว่าในปี 2566  Carousell กำหนดให้ผู้ขายทุกรายต้องยืนยันตัวตนผ่าน Singpass ก่อนทำการจำหน่ายสินค้าประเภทบัตรการแสดงและบัตรแทนเงินสด เนื่องจากเป็นสินค้าที่ถูกนำมาใช้ในการหลอกลวงบ่อยครั้ง สำหรับกรณีการโกงค่าบัตรคอนเสิร์ต Taylor Swift ผ่านทางแอปพลิเคชัน Carousell บริษัทตัดสินใจใช้มาตรการที่เด็ดขาด โดยทำการระงับการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตผ่านทาง Carousell ในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ทั้งนี้ สแกมเมอร์สามารถปรากฏตัวในรูปแบบของผู้ซื้อได้เช่นกัน โดยสแกมเมอร์จะส่งลิงก์ในลักษณะแจ้งเตือนการจ่ายค่าสินค้าให้แก่ผู้ขาย เมื่อผู้ขายกดลิงก์ก็จะถูกขโมยข้อมูลทางการเงิน ซึ่ง Carousell จะใช้อัลกอริทึมตรวจจับพฤติกรรมที่น่าสงสัย และวิเคราะห์ข้อมูลก่อนจะปิดกั้นผู้ใช้งานเหล่านี้

Google ได้ร่วมกับ Global Anti-Scam Alliance (GASA) ซึ่งเป็นองค์กรในเนเธอร์แลนด์ เพื่อร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกในการแบ่งปันความรู้และพัฒนาวิธีการต่อต้านปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยเสริมการป้องกันการโกงให้แก่ผู้ใช้อื่น ๆ

ความพยายามในความร่วมมือระหว่างประเทศ

การประชุม Global Fraud Summit วันที่  11 – 12 มีนาคม 2567 ณ กรุงลอนดอนเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกที่จัดขึ้นเพื่อหารือถึงปัญหาการฉ้อโกงและความร่วมมือระหว่างประเทศ สิงคโปร์ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศ (สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ที่เข้าร่วมการประชุม ได้ลงนามรับรองคำแถลงการณ์ที่จะร่วมมือเพื่อต่อสู้กับการฉ้อโกงทางการเงินระหว่างประเทศ

นาง Josephine Teo รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศสิงคโปร์และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนที่สองได้แบ่งปันวิธีรับมือกรณีการหลอกลวง เช่น ภาคธนาคาร ทำงานร่วมกับศูนย์ป้องกันการหลอกลวง (Anti-Scam Command) ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสิงคโปร์ ดำเนินการอายัดบัญชีธนาคารและนำเงินกลับคืนให้แก่ผู้เสียหาย รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลการส่งข้อความ SMSซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะเป็นการหลอกลวงไปยังผู้รับข้อความ โดยระบบจะส่งข้อความแจ้งเตือนว่า“น่าจะเป็นสแกม” เพื่อช่วยลดความสูญเสียจากการหลอกลวงด้วยเทคนิคการขโมยข้อมูล (phishing scam) ได้มากขึ้น

นาง Josephine Teo เชื่อว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ในการหลอกลวงนั้นพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนร่วม เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ควรร่วมมือกันใช้มาตรการป้องกันที่รัดกุมมากขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งปัญหาสแกมเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ จึงจำเป็นที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหานี้

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ประเภทการหลอกลวงที่ภาคธุรกิจพบอยู่บ่อยครั้งและผู้ประกอบการควรระวัง คือ ransomware ที่จะโจมตีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและทำการปิดกั้นไม่ให้เจ้าของข้อมูลเว็บไซต์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จนกว่าจะทำการจ่ายเงินค่าไถ่ ผู้ประกอบการควรมีวิธีการรับมือเชิงรุก เช่น การติดตั้งโปรแกรมรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมยิ่งขึ้น และมีวิธีการเชิงรับ โดยกำหนดขั้นตอนปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้กับกิจการของตน นักธุรกิจออนไลน์ควรศึกษาและระวังวิธีการที่มิจฉาชีพใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญ เช่น การแฝงตัวมาในรูปแบบผู้ซื้อและหลอกให้กดลิงก์ที่เป็นอันตราย และควรติดตามการปรับปรุงกฎระเบียบและนโยบายของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง