ในปี 2566 หลายบริษัทมีการปรับโครงสร้างธุรกิจอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกภายหลังโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทเทคโนโลยี การบริการด้านไอที การค้าส่ง ธุรกิจผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำปลดพนักงาน

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคหันมาใช้บริการในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ   ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) เติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทจึงปรับตัวในการเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าและบริการออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น และแย่งชิงผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีเข้ามาทำงาน ทำให้เงินเดือนพนักงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์โดยในสิงคโปร์ปรับเพิ่มประมาณ 4 % เมื่อผ่านช่วงการระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าในรูปแบบออนไลน์และส่วนแบ่งตลาด (Market share) ลดลง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาแทนที่และการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) มากขึ้น บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลกที่มีสำนักงานในสิงคโปร์อย่าง Google Amazon Salesforce Meta จึงประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 7-10% รวมถึงบริษัทอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) รายใหญ่ในสิงคโปร์อย่าง Lazada ได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวในการปรับเปลี่ยนทรัพยากรเพื่อมุ่งเน้นสู่ความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI มากขึ้นแทน

คาดการณ์เศรษฐกิจและตลาดแรงงาน

จากการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่เศรษฐกิจโลกส่งผลให้มีการปรับลดตำแหน่งงานในสิงคโปร์กว่า 14,320 ตำแหน่ง ในปี 2566 อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ (Ministry of Manpower – MOM) เผยว่าอัตราการว่างงานในภาพรวมของสิงคโปร์ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 1.9% ในปี 2566 โดยจำนวนการปลดพนักงาน ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อยู่ที่ 3,200 คน (จาก 4,110 คนในไตรมาสที่ 3) ทั้งนี้ ผลการสำรวจความคาดหวังทางธุรกิจในปี 2567 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (Ministry of Trade and Industry – MTI) ที่คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1-3% สัดส่วนบริษัทที่มีความต้องการจ้างงานในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ตลาดแรงงานภาพรวมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกนั้นมีการปลดพนักงานไปแล้วกว่า 32,000 คน แต่แนวโน้มของตลาดแรงงานที่ต้องการทักษะด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ โดยเปิดตำแหน่งด้าน AI 17,479 ตำแหน่ง

ที่มา: The Straits Times https://www.straitstimes.com/business/retrenchments-in-singapore-doubled-in-2023-even-as-unemployment-dipped-slightly

ข้อมูลการปรับลดตำแหน่งพนักงาน จำแนกตามอาชีพ ความสำเร็จทางการศึกษา อายุและเพศ

ที่มา: กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (Ministry of Manpower – MOM) https://stats.mom.gov.sg/iMAS_PdfLibrary/mrsd-Labour-Market-Report-3Q-2023.pdf

กฎหมายการเลิกจ้างงานในสิงคโปร์ที่ควรรู้

               การจ้างงานโดยรวมของสิงคโปร์ยังคงเติบโตต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 แต่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงขาลงและมีโอกาสที่จะมีการปรับลดโครงสร้างธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับนโยบายและโครงสร้างของธุรกิจ ดังนั้นบริษัทและลูกจ้างเองจึงควรตระหนักถึงกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องด้วย ในกรณีของการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น บริษัทที่มีลูกจ้างมากกว่า 10 คน ต้องแจ้งให้ MOM ทราบก่อนและบริษัทนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้าง สำหรับบริษัทที่อยู่ภายใต้สหภาพแรงงานจะต้องจ่ายค่าชดเชยโดยคิดตามระยะเวลาการทำงานเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ – 1 เดือน ของเงินเดือนต่อระยะเวลาทำงาน 1 ปีในบริษัท (2 weeks to 1 month salary per year of service)  และสำหรับบริษัทที่ไม่อยู่ภายใต้สหภาพแรงงานต้องจ่ายค่าชดเชยโดยคิดตามระยะเวลาการทำงานเป็นจำนวนเงินเดือน 1 เดือนต่อระยะเวลาทำงาน 1 ปีในบริษัทนั้น (1 month’s salary for each year of service) นอกจากนี้ นายจ้างสามารถปรึกษา MOM กรณีการปรับโครงสร้างบริษัทหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://go.gov.sg/employment-practices-support-tamem ในกรณีที่บริษัทจะยกเลิกบัตรทำงานของลูกจ้าง บริษัทจะต้องแจ้ง MOM ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากวันสุดท้ายของการทำงาน (Last day of notice) ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถขออยู่ต่อในสิงคโปร์ชั่วคราวด้วย Short-Term Visit Pass (STVP) ต่อไปได้แล้วแต่กรณี ซึ่ง MOM จะอนุญาตให้อยู่ในสิงคโปร์ได้ไม่เกิน 90 วัน  กรณีที่ลูกจ้างต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อหน่วยงาน The Food Drinks and Allied Workers Union (FDAWU) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสหภาพแรงงานแห่งชาติสิงคโปร์ (The National Trades Union Congress – NTUC) ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 6737-6088 อีเมล fdawu@ntuc.org.sg นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อเพื่อหาโอกาสในการทำงานได้ที่หน่วยงาน NTUC’s Employment and Employability Institute (e2i)

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ

               การปรับลดโครงสร้างธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเทคโนโลยีจะยังคงมีโอกาสเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศคู่ค้าหลักของโลกที่มีแนวโน้มก่อตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการและพนักงานจึงควรรักษาความสามารถในการแข่งขันและความยืดหยุ่นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ควรศึกษาข้อมูลตลาดแรงงาน การจ้างงานในสิงคโปร์ ความเสี่ยงจากตลาดแรงงานที่แข่งขันสูงขึ้น รวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานในสิงคโปร์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยายบทบาทหน้าที่ ยกระดับทักษะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ต่อไป


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง