จากการที่สิงคโปร์ตั้งเป้ายุติการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปล้วน (Internal Combustion Engine – ICE) ภายในปี 2583 นั้น  EVe ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลขนส่งทางบกสิงคโปร์ (Land Transport Authority – LTA) มีแผนดำเนินการติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Charger) เพิ่มเติมในจุดจอดรถสาธารณะกว่า 12,000 จุด โดยเป็นจุดจอดรถของคณะกรรมการการเคหะและการพัฒนา (Housing and Development Board – HDB) ซึ่งเป็นอาคารที่พักอาศัยของชาวสิงคโปร์ โดยตั้งเป้าติดตั้งที่ HDB กว่า 2,000 แห่งทั่วสิงคโปร์ ภายในปี 2568  ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วย  

สิงคโปร์เดินหน้าติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว (EV Charger)

จากข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์ในสิงคโปร์ พบว่าปัจจุบันมีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปี 2565 จำนวน 6,531 คัน เป็นจำนวน 11,941 คัน ในปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามแผนของ Singapore Green Plan 2030 ที่ต้องการให้ใช้รถยนต์พลังงานสะอาดทั้งหมดภายในปี 2583 โดยสิงคโปร์จะยกเลิกการออกใบอนุญาตสิทธิ์ครอบครองรถยนต์ (COE) สำหรับรถยนต์ดีเซล และรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (Pure Combustion Engine) ในปี 2568 ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในที่สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

บริษัท Eve ซึ่งดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว (Fast Charge) เพียง 30 นาที จากปกติใช้เวลาหลายชั่วโมง จะเริ่มนำร่องติดตั้งสถานีชาร์จที่ (1) HDB Hub ในย่าน Tao Payoh ที่ดำเนินการโดยบริษัท Shell จำนวน 4 จุด โดย 2 จุดใช้กำลังไฟที่ 120 กิโลวัตต์ แบบ Dual Gun Charger กระแสไฟฟ้าตรง (Direct Current) และอีก 2 จุดที่กำลังไฟ 22 กิโลวัตต์ แบบกระแสไฟฟ้าสลับ (Alternating Current) ค่าบริการ 72 เซนต์/กิโลวัตต์ (2) ย่าน Oasis Terraces ที่ดำเนินการโดยบริษัท SP Mobility ภายใต้การดูแลของ SP Group จำนวน 2 จุด โดย 1 จุดใช้กำลังไฟที่ 100 กิโลวัตต์ แบบ Dual Gun Charger กระแสไฟฟ้าตรง (Direct Current) และอีก 1 จุดที่กำลังไฟ 22 กิโลวัตต์ แบบกระแสไฟฟ้าสลับ (Alternating Current) ค่าบริการ 69.8 เซนต์/กิโลวัตต์ ในขณะที่ค่าบริการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปกติเริ่มต้นที่ 53 เซนต์/กิโลวัตต์

บริษัท Eve ได้ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Charger) ไปแล้ว 1,800 จุด ในพื้นที่จอดรถสาธารณะ 560 แห่ง การให้บริการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะดำเนินการผ่านบริษัทผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับอนุมัติจาก LTA แล้ว โดยพิจารณาจากสถานะทางการเงิน ความสามารถทางเทคนิคและการปฏิบัติการ รวมถึงนโยบายความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวน 8 รายที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นเพื่อประมูลโครงการที่จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสองปีข้างหน้านี้ ได้แก่ (1) Charge+ (2) ComfortDelGro Engie (3) Shell Singapore (4) SP Mobility (5) ST Engineering Urban Solutions (6) Strides YTL (7) TotalEnergies Marketing Asia-Pacific Middle East (8) Volt Singapore

รัฐบาลสิงคโปร์ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยสำหรับ EV Charger

LTA ได้ออกข้อกำหนดการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Charger) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการใช้บริการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในที่สาธารณะ เพื่อให้มั่นใจว่าการบริการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีความปลอดภัยและสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการได้ทั่วทั้งเกาะสิงคโปร์ โดย EV Charger ที่ซื้อและติดตั้งใหม่ตั้งแต่ 8 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ต้องดำเนินการจดทะเบียนกับ LTA ก่อนใช้งาน และสำหรับ EV Charger ที่มีอยู่ก่อนแล้วจะต้องดำเนินการจดทะเบียนกับ LTA ภายใน 7 มิถุนายน 2567 เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยผ่านเว็บไซต์ LTA’s OneMotoring โดยเมื่อจดทะเบียนแล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์รับรอง มีอายุ 3 ปี สำหรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนอยู่ระหว่าง 150 – 750 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับพิกัดกำลัง (Power Rating) และสถานที่ติดตั้ง ซึ่ง LTA จะคงอัตราค่าธรรมเนียมนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2568 ทั้งนี้ หากไม่ขึ้นทะเบียนตามที่กำหนดจะถือเป็นความผิดโดยมีโทษปรับ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์หรือจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: https://www.lta.gov.sg/content/dam/ltagov/news/press/2023/231207_breakdown_of_registration_fee_AnnexD.pdf

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ

สิงคโปร์มีนโยบายในการผลักดันการใช้งานรถยนต์พลังงานงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อสอดรับตามแผน Singapore Green Plan 2030 นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางการผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และส่งออกเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 3 ของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยที่ไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน และรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนและผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจรในภูมิภาคเอเชีย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับเครื่องยนต์ไฟฟ้า บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง (High Density Battery) บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า กิจการที่เกี่ยวข้องกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) อีกทั้ง ยังมีความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถ อุปกรณ์และเทคโนโลยี การฝึกอบรมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผลักดันการเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทย ดังนั้นการขยายสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของสิงคโปร์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจากประเทศไทยจะสามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กิจการค้าร่วม (Joint Venture) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจที่สามารถสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล บริษัทอะไหล่และชิ้นส่วนที่สามารถสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กับสิงคโปร์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะร่วมลงทุนหรือประกอบกิจการที่เกี่ยวข้อง ควรศึกษาข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนตรวจสอบข้อกำหนดและมาตรฐานของสิงคโปร์ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการควบคุมดูแลธุรกิจบางประเภทจากรัฐ และข้อจำกัดของโควตาการใช้รถยนต์และใบอนุญาตสิทธิ์ครอบครองรถยนต์ (COE)


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง