เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 นาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์และนาย Rafizi Ramli รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (Johor-Singapore Special Economic Zone – JS-SEZ) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองประเทศ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์และรัฐยะโฮร์บาห์รู

มาเลเซียได้จัดตั้งเขตระเบียงเศรษฐกิจ Iskandar ในรัฐยะโฮร์บาห์รูตั้งแต่ปี 2549 มีพื้นที่ 2,217 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของสิงคโปร์ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ทางด่วน ท่าเรือ ระบบสาธารณูปโภค และการศึกษา ตั้งแต่ปี 2549-2565 พื้นที่นี้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติแล้วกว่า 44,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์ข้อมูล ไปจนถึงเภสัชกรรมและอาหาร โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจ Iskandar มากเป็นลำดับที่ 2รองจากจีน โดยมีมูลค่าการลงทุน 9,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

แนวคิดเริ่มต้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์

สิงคโปร์และมาเลเซียได้เริ่มเจรจาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ Iskandar ร่วมกันตั้งแต่ปี 2550 โดยจัดตั้งคณะเจรจาระดับรัฐมนตรี (Malaysia-Singapore Joint Ministerial Committee for Iskandar Malaysia : JMCIM) ที่ผ่านมามีความพยายามหลายครั้งในการหารือและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียแต่ไม่บรรลุผลสำเร็จ จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2566 นาย Anwar Ibrahim นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเดินทางเยือนสิงคโปร์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Malaysia-Singapore Leaders’ Retreat ครั้งที่ 10 ได้ประกาศจัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ JS-SEZ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ชายแดนให้เป็นเขตการค้าการลงทุนและลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนและสินค้าระหว่างสิงคโปร์กับรัฐยะโฮร์บาห์รู ซึ่งเป็นหนึ่งในการข้ามเขตแดนทางบกที่หนาแน่นที่สุดในโลก โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งดึงดูดนักลงทุนและบริษัทระดับโลกได้มากขึ้น

พื้นที่เขตเศรษฐกิจ Iskandar

ที่มา: https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/state-govt-proposing-iskandar-region-be-designated-johor-s-pore-special-economic-zone

MOU on Johor-Singapore Special Economic Zone

MOU JS-SEZ ระบุถึงความร่วมมือในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังนี้

  1. การจัดตั้งศูนย์บริการทางธุรกิจแบบครบวงจรสำหรับการลงทุนในรัฐยะโฮร์บาห์รูเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอเปิดธุรกิจและขอใบอนุญาตต่าง ๆ สำหรับธุรกิจสิงคโปร์ที่ต้องการจะจัดตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  2. การพัฒนาระบบตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่านข้ามแดนทางบกโดยใช้ QR code ผ่านด่านทางบกโดยไม่จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตทั้งสองฝั่ง
  3. การพัฒนาระบบดิจิทัลในระบบศุลกากรและการตรวจสินค้าบนรถบรรทุกในการผ่านข้ามแดนทางบก
  4. การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจของสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีต่อการพัฒนา JS-SEZ เพื่อตอบสนองความต้องการและสามารถอำนวยความสะดวกทางธุรกิจได้มากขึ้น
  5. การร่วมมือในด้านพลังงานทดแทนระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ใน JS-SEZ
  6. การจัดฝึกอบรมและการเรียนรู้จากการทำงานเพื่อแก้ไขช่องว่างด้านความสามารถและทักษะสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแรงงานให้สามารถรองรับและสนับสนุนภาคธุรกิจต่าง ๆ
  7. การจัดกิจกรรม (joint promotion events) เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียใน JS-SEZ

ความคืบหน้าของการเตรียมการเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นรูปธรรม

ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2567 สิงคโปร์ได้เริ่มใช้ระบบ QR code ที่ด่านทางบกในการตรวจคนเข้าเมือง Woodlands และ Tuas ผู้ใช้งานสามารถสแกน QR code จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทั้งแบบบุคคลและแบบเดินทางเป็นกลุ่มซึ่งช่วยประหยัดเวลาการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจากฝั่งสิงคโปร์ และทำให้การเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองสะดวกรวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างโครงการรถไฟ Johor Bahru-Singapore Rapid Transit System Link ความยาว 4 กิโลเมตร เชื่อมต่อสถานี Woodlands North ในสิงคโปร์ ไปยังสถานี Bukit Chagar ในรัฐยะโฮร์บาห์รู ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเดิมทีกำหนดจะเปิดใช้ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม โครงการได้ประสบปัญหาการก่อสร้างล่าช้า จึงคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ในปี 2569

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจ Iskandar มากเป็นลำดับที่ 2 รองจากจีน การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ไม่ไกลนักจากสิงคโปร์ และการมีระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจจากสิงคโปร์เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ อาจเป็นการเปิดโอกาสให้มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ในมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าโครงการ JS-SEZ จะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้ารวมระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ให้ถึงค่าเป้าหมายที่ 181 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2573

สำหรับนักธุรกิจชาวไทยในสิงคโปร์ที่สนใจขยายกิจการหรือสำนักงานไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ ควรติดตามข่าวการประกาศเปิดตัวเขตเศรษฐกิจพิเศษและศึกษาข้อมูลการขออนุมัติจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่จำเป็นในการทำธุรกิจในเขต JS-SEZ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง