สิงคโปร์เปิดใช้งาน “แอ่งมหาสมุทรเทียม” เพื่อความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีการเดินเรือและการป้องกันชายฝั่ง

สิงคโปร์เปิด “แอ่งมหาสมุทรเทียม” (artificial ocean basin) แห่งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมนอกชายฝั่งและทางทะเล (Technology Centre for Offshore and Marine Singapore – TCOMS) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) โดยมีนายเตียว ชี เฮียน H.E. Mr. Teo Chee Hean) รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีประสานงานด้านความมั่นคงแห่งชาติสิงคโปร์เป็นประธาน   แอ่งมหาสมุทรเทียมแห่งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการวิจัยด้านทะเลและการเดินเรือขั้นสูงของสิงคโปร์ให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ออสเตรเลีย และอังกฤษ

นายเตียว ชี เฮียน รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีประสานงานด้านความมั่นคงแห่งชาติสิงคโปร์เป็นประธานเปิด “แอ่งมหาสมุทรเทียม”
แหล่งที่มา: TCOMS (https://www.facebook.com/Technology-Centre-for-Offshore-and-Marine-Singapore-TCOMS-191030801533400/)

“แอ่งมหาสมุทรเทียม” เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการวิจัยและทดสอบทางทะเลและการเดินเรีอ

แม้ว่าระบบดิจิทัลจะมีประโยชน์ต่อการทดลองเทคโนโลยีการเดินเรือใหม่ ๆ แต่การทดสอบในสภาพเสมือนจริงก็ยังมีความจำเป็นในการวิจัยและการพัฒนาด้านการเดินเรือ สิงคโปร์จึงลงทุนเงิน 107 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์(ประมาณ 2,800 ล้านบาท) เพื่อสร้างแอ่งมหาสมุทรเทียมแห่งแรก เพื่อใช้สำหรับการศึกษาและต่อยอดของอุตสาหกรรมด้านทะเล การเดินเรือ และวิศวกรรมนอกชายฝั่ง (Marine & Offshore Engineering – M&OE) รวมถึงการขนส่งทางทะเล การพยากรณ์พายุ การศึกษาความแปรปรวนของสภาพอากาศ และการปกป้องชายฝั่ง

การจำลองคลื่นในแอ่งมหาสมุทรเทียม
แหล่งที่มา: TCOMS (https://www.facebook.com/Technology-Centre-for-Offshore-and-Marine-Singapore-TCOMS-191030801533400/)

แอ่งมหาสมุทรเทียมนี้มีความยาว 60 เมตร ความกว้าง 48 เมตร และความลึก 12 เมตร มีความจุของแอ่งเทียบเท่าสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก 15 สระ พื้นที่ตรงกลางแอ่งสามารถปรับระดับได้อย่างรวดเร็ว โดยปรับความลึกได้สูงสุด 50 เมตร ซึ่งยังจะสามารถต่อยอดการจำลองการวิเคราะห์ข้อมูลแบบดิจิทัลในระดับความลึกพิเศษ (ultra-deepwater) สูงสุด 3,000 เมตรอีกด้วย แอ่งมหาสมุทรเทียมนี้ควบคุมผ่านแผงควบคุมที่ไม่ซับซ้อน โดยมีระบบสร้างคลื่นได้สูงถึง 1.1 เมตร และมีใบพัดสร้างคลื่นจำนวน 180 จุดอยู่โดยรอบ ทั้งยังมีเครื่องกำเนิดและควบคุมกระแสน้ำแนวตั้ง รวม 6 ชั้น จึงสามารถสร้างกระแสน้ำที่ซับซ้อนได้หลายรูปแบบและหลายระดับความลึก ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะจะประมวลการเคลื่อนไหวทั้งหมดของวัตถุหรือเรือที่อยู่บนผิวน้ำอย่างละเอียด และส่งข้อมูลไปประมวลผลด้วยระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ชั้นสูงที่สนับสนุนโดยศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งขาติ (National Supercomputing Centre – NSCC) และจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อการศึกษาเชิงลึกต่อไป นอกจากนี้ แอ่งเทียมยังมีเครื่องยกลากขนาดใหญ่สำหรับขนย้าย หรือยกวัตถุที่หนักเท่ารถยนต์ 2 คัน ได้ด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย

แอ่งมหาสมุทรเทียมจะช่วยให้นักวิจัยสามารถจำลองสภาพทางกายภาพในการทดลองให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เช่น การศึกษาการทนได้ของเรือเมื่อประสบกับสภาพคลื่นที่เลวร้าย และการสังเกตการเคลื่อนที่ของเรือหลายลำพร้อม ๆ กันเมื่อประสบกับคลื่นลักษณะต่าง ๆ จึงช่วยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือและการป้องกันชายฝั่งใหม่ ๆ ที่มีความถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น โดยอาศัยจุดเด่นของการทดสอบได้หลายสมมติฐาน ความปลอดภัย และต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบในมหาสมุทรจริง

บริษัทชั้นนำทางทะเลสนับสนุนการใช้งานแอ่งมหาสมุทรเทียมเพื่อเพิ่มศักยภาพของการวิจัยและพัฒนาที่ปลอดภัย

นักธุรกิจและบริษัทชั้นนำทางทะเลและการเดินเรือจำนวนมากสนใจที่จะใช้งานแอ่งมหาสมุทรเทียมในสิงคโปร์ เช่น บริษัท Keppel Offshore & Marine บริษัทชั้นนำด้านวิศวกรรมการออกแบบแท่นขุดเจาะกลางทะเล และออกแบบ ซ่อมบำรุงเรือขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ ประสงค์จะใช้แอ่งมหาสมุทรเทียมนี้เพื่อทดสอบระบบการเดินเรือด้วยระบบไฟฟ้า (electrification vessels) โดยเห็นว่า การทดสอบดังกล่าวจะช่วยให้สามารถประเมินวัฏจักรของเรือได้แม่นยำขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับการเดินเรือ บริษัท Wartsilla บริษัทชั้นนำของฟินแลนด์ด้านการผลิตอุปกรณ์การเดินเรือ กำลังสร้างเรือลากโยง (tugboat) จำลองขนาดเล็ก เพื่อใช้ทดสอบกับแอ่งมหาสมุทรเทียมแห่งนี้ ขณะที่บริษัท Sembcorp Marine ลงนามข้อตกลงในการทำวิจัยกับ TCOMS ในการใช้แอ่งมหาสมุทรเพื่อทดสอบโครงสร้างทุ่นกังหันลมเพื่อการผลิตพลังงานจากลมนอกชายฝั่งที่ไกลจากฝั่งถึง 500 กิโลเมตร นอกจากนี้ TCOMS ได้จัดทำความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ เช่น บริษัท BeeX และ บริษัท Subnero ว่าด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์ขับเคลื่อนใต้น้ำ เพื่อการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลและเพื่อการค้นหาและช่วยชีวิต สิงคโปร์คาดว่า การเปิดใช้งานแอ่งมหาสมุทรเทียมนี้ จะเป็นตัวเร่งกระบวนการให้กับการเกิดระบบอัตโนมัติของอุตสาหกรรมทะเลและชายฝั่งของสิงคโปร์ ที่เริ่มขาดแคลนแรงงานตั้งแต่ปี 2559

การสาธิตเรือลากโยงจำลอง อัตราส่วน 1:10 กับคลื่นในแอ่งมหาสมุทรเทียม
แหล่งที่มา: NUS News (https://news.nus.edu.sg/tcoms-opens-ocean-basin-facility/)

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต

TCOMS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย (A*Star) และ NUS สนับสนุนโดยคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board – EDB) และการท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore – MPA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติด้านทางทะเลและวิศวกรรมนอกชายฝั่งของสิงคโปร์ โดยมีคณะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางด้านทะเลและการเรือเป็นผู้ขับเคลื่อน TCOMS มีโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกับบริษัทชั้นนำหลายโครงการ เช่น โครงการวิจัยระบบอัจฉริยะนอกชายฝั่งและการควบคุมและบังคับเรือจากระยะไกล

ประเทศไทยส่งเสริมการผลักดันธุรกิจทางด้านการเดินเรือและมหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2562 มีการจัดงาน Thailand Marine & Offshore Expo (TMOX) ขึ้นครั้งแรก เป็นการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เช่นกระทรวงอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า ท่าเรือแหลมฉบัง สมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย และบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนี่ยริ่ง จำกัด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมเรือไทยให้สามารถขึ้นแท่นการเป็นศูนย์กลางการเดินเรือแห่งหนึ่งในอาเซียน อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยปัจจุบัน ร้อยละ 90 ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศอาศัยการขนส่งทางน้ำ ประเทศไทยจึงควรส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจให้กัอุตสาหกรรมการเรือ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องอนึ่ง พันธมิตรที่เกี่ยวข้องของไทยมีกำหนดจัดงาน TMOX ครั้งต่อไประหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง