การใช้พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับธุรกิจการบินในสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (The Civil Aviation Authority of Singapore :CAAS)  ได้เปิดตัวโครงการริเริ่มการจัดการสายการบิน สนามบิน และการจราจรทางอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคธุรกิจการบินของสิงคโปร์ และส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการบินที่ยั่งยืน ทั้งนี้ สิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากการดำเนินการของสนามบินในปี 2562 ภายในปี 2573 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิจากการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศให้เป็นศูนย์ ซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซจากเที่ยวบินระหว่างประเทศของสายการบินที่ดำเนินการโดยผู้ให้บริการในสิงคโปร์ ภายในปี 2593

สนามบิน CAAS จะลดการใช้พลังงานและปรับมาใช้พลังงานหมุนเวียนในสนามบิน Changi โดย

(1) การติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์บนดาดฟ้าของอาคารสนามบิน และยังศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในสนามบินอีกด้วย ในปี 2566 สนามบิน Changi มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกือบ 4% จากการใช้ไฟฟ้าในปี 2562 และสนามบินมีแผนติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 6%

(2) การใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดกว่าสำหรับยานพาหนะในสนามบินภายในปี2583 โดยการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า เช่น รถยนต์ รถมินิบัส รวมถึงรถยก และรถแทรกเตอร์ตั้งแต่ปี 2568 และจะดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มเติม

(3) การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารผู้โดยสาร โดยการลดใช้พลังงานจากระบบปรับอากาศในอาคารผู้โดยสารของสนามบิน เพราะระบบปรับอากาศคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด โดยในปัจจุบันสนามบิน Changi กำลังดำเนินการใช้วัสดุด้านหน้าอาคารที่สะท้อนความร้อน เพื่อลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ นอกเหนือจากการอัพเกรดระบบทำความเย็นในอาคารผู้โดยสาร

(4) สนามบินจะนำไฟฟ้าคาร์บอนต่ำที่นำเข้ามาใช้งานในสนามบิน

(5) CAAS จะทำการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างโรงผลิตพลังงานขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้งานในสนามบิน

สายการบิน ตั้งแต่ปี 2569 เที่ยวบินที่เดินทางออกจากสิงคโปร์จะต้องใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการดำเนินงานของสายการบิน และผู้โดยสารที่บินจากสิงคโปร์จะต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเพิ่ม เนื่องจากมีการเก็บภาษีจากการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง โดยระยะเริ่มต้น สิงคโปร์ตั้งเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืนที่ 1% ในปี 2569 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-5% ในปี 2573 ขึ้นอยู่กับปัจจัยการพัฒนาของโลก ตลอดจนความพร้อมใช้และการนำเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนไปใช้ในวงกว้างในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การจัดการจราจรทางอากาศ CAAS จะเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือจัดการจราจรทางอากาศ และลดการเผาผลาญเชื้อเพลิง โดย

(1) การปรับปรุงจัดการการจราจรทางอากาศในแง่ความสามารถในการรองรับ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงการประสานงานและการจัดการเที่ยวบินระยะไกล ตลอดจนเพิ่มความน่าเชื่อถือ ความทันเวลา และความแม่นยำของข้อมูลพยากรณ์อากาศที่มอบให้กับผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ ผ่านการใช้เครื่องมือคาดการณ์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ

(2) การปรับปรุงประสิทธิภาพการนำทาง โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการการเดินทางทางอากาศในภูมิภาค เพื่อให้เกิดการใช้เส้นทางโดยตรงในระดับที่กว้างขึ้น และในระยะยาว จะดำเนินการเปิดเส้นทางบนน่านฟ้าฟรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและวิถีการบินที่ยืดหยุ่น นอกจากนี้ CAAS จะพัฒนาเครื่องมืออัจฉริยะเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพข้อมูลเที่ยวบินที่ใช้งานภายในสนามบิน ซึ่งจะช่วยลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(3) CAAS จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเส้นทางการบินแบบ Gate-to-Gate โดยจะใช้เครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อปรับช่วงเวลาออกเดินทางให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานลานบิน จากแนวทางสามอย่างดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้การเผาไหม้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 10%

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ปัจจุบันหลายภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบินโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงประเทศสิงคโปร์ด้วย ซึ่งหนึ่งในวิธีดังกล่าว ได้แก่ การหันมาใช้เชื้อเพลิงสะอาด หรือพลังงานชีวภาพคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ เชื้อเพลิงแบบยั่งยืนไม่ได้จำกัดการใช้เฉพาะในกลุ่มธุรกิจการบิน หากแต่สามารถขยายผลไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งไทยมีวัตถุดิบในการผลิต เช่น ผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตร หรือน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ที่สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงแบบยั่งยืนได้ และมีบุคลากรที่มีความสามารถในด้านการวิจัยและพัฒนา และความพร้อมของโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ หากประเทศไทยสามารถวิจัย พัฒนา และผลิตเชื้อเพลิงแบบยั่งยืนเพื่อรองรับความต้องการใช้งานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนฯ จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดการส่งออกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน


สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง