ปัจจุบันสิงคโปร์กำลังเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุจากการเพิ่มขึ้นของอายุเฉลี่ยร่วมกับอัตราการเกิดที่ลดลง โดยสิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย ในปี 2565 สิงคโปร์มีสัดส่วนของจำนวนประชากรสูงอายุมากเป็นลำดับที่ 5 ของทวีปเอเชีย และยังเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก และในปี 2569 สิงคโปร์จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้หน่วยงานสถิติของสิงคโปร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรสิงคโปร์จะมีอายุมากกว่า 65 ปี และในปี 2593 จะเพิ่มเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และค่ากลางของอายุประชากรสิงคโปร์ (median age) จะเพิ่มขึ้นจาก 42.8 ปี ในปี 2566 เป็น 53.4 ปี ในปี 2593

แผนภาพแสดงจำนวนผู้อยู่อาศัยในสิงคโปร์ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2566

ที่มา: https://www.statista.com/statistics/1307632/singapore-number-of-elderly-residents/#statisticContainer

แผนภาพแสดงการคาดการณ์แนวโน้มจำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในสิงคโปร์

ที่มา: https://www.statista.com/statistics/713663/singapore-forecast-aging-population

ความท้าทายในการเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุมาพร้อมกับความท้าทายจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพร่วมกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ รายงานจาก Lee Kuan Yew School of Public Policy ในปี 2562 กล่าวว่าค่าครองชีพของผู้สูงอายุในสิงคโปร์ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปและอยู่คนเดียวอยู่ที่ประมาณ 1,379 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าชาวสิงคโปร์กว่า 49% รู้สึกว่าตนยังไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับความแก่ชราในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ในขณะที่ 55% กล่าวว่ายังไม่ได้เตรียมพร้อมทางการเงินมากพอสำหรับการเกษียณอายุ

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุหมายถึงการมีจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจที่ลดลง ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ ทำให้ธุรกิจไม่สามารถหาลูกจ้างในตำแหน่งที่ต้องการได้ ผลที่ตามมาคือความสามารถในการผลิตลดลง ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น การขยายตัวของธุรกิจช้าลง และความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศลดลง ในบางกรณีการขาดแคลนแรงงานอาจเป็นสาเหตุให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะค่าแรงเฟ้อได้ โดยหากอัตราการเกิดของประชากรสิงคโปร์ไม่เพิ่มขึ้น ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ลดลง 1.5% ทุกปี ไปจนถึงปี 2603

การรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

ตั้งแต่ปี 2562 คณะทำงานไตรภาคีว่าด้วยแรงงานสูงอายุซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน สหภาพแรงงาน และนายจ้างของสิงคโปร์ ได้แก้ไขกฎหมายเกษียณอายุและการจ้างงานใหม่ (Retirement and Re-Employment Act- RRA) โดยเพิ่มเกณฑ์เกษียณอายุเป็น 65 ปี และการจ้างกลับเข้ามาทำงาน (re-employment) ได้จนถึงอายุ 70 ปี โดยทยอยการเกษียณอายุแบบขั้นบันไดให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 ปัจจุบันเกณฑ์การเกษียณอายุและจ้างกลับเข้าทำงานอยู่ที่ 63 ปี และ 68 ปี ตามลำดับ โดยในปี 2569 จะเพิ่มเป็น 64 ปี และ 69 ปี ตามลำดับ

ในระหว่างการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ของกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ นาย Tan See Leng รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสิงคโปร์กล่าวว่า ในปี 2569 จะมีการเพิ่มเกณฑ์เกษียณอายุเป็น 64 ปี และนายจ้างต้องเสนอการจ้างกลับเข้ามาทำงานให้กับลูกจ้างจนถึงอายุ 69 ปี โดยลูกจ้างจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ (1) เป็นชาวสิงคโปร์หรือเป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวร (Permanent Residence – PR) (2) ทำงานให้กับบริษัทปัจจุบันอย่างน้อย 2 ปี ก่อนเกษียณอายุ (3) นายจ้างประเมินแล้วว่ามีสมรรถภาพในการทำงานดี และ (4) มีสุขภาพแข็งแรง เหมาะสมที่จะทำงานต่อ

นาย Tan See Leng ยังกล่าวอีกว่า หากไม่สามารถคงศักยภาพการผลิตในอีก 10 ปีข้างหน้าสิงคโปร์จะต้องได้รับผลกระทบอย่างมากจากการถดถอยของระบบเศรษฐกิจ ในปี 2567 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์จึงผลักดันการสร้างสถานที่ทำงานที่เท่าเทียมและหลากหลาย โดยการปกป้องแรงงานจากการถูกเลิกจ้างก่อนเกษียณอายุเนื่องจากอายุมากเกินไป เพิ่มการจ้างงานให้กับแรงงานในประเทศ เพิ่มกำลังการผลิตให้กับธุรกิจ และเพิ่มความพร้อมในการเกษียณอายุในกลุ่มเปราะบาง

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ

หลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงสิงคโปร์และประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะสังคมผู้สูงอายุซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรและจะส่งผลต่อแรงงานการผลิตเพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ประเทศต้องรับมือ โดยประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้รัฐบาลสิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการเพื่อการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจประกาศเพิ่มภาษีสินค้าและบริการ (GST) จาก 7% ในปี 2565 เป็น 8% ในปี 2566 และ 9% ในปี 2567 รวมทั้งมาตรการอุดหนุนเงินเกษียณและเงินสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ซึ่งกลายเป็นภาระของประชากรทั้งหมด การเพิ่มเกณฑ์การเกษียณอายุและการจ้างกลับมาทำงานจึงเป็นความพยายามหนึ่งที่จะแก้ปัญหาปริมาณแรงงานในระบบที่ลดลง

ในฐานะที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจำเป็นต้องมีความพร้อมและการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการปรับแผนธุรกิจเพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้ เช่น ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุ หรืออุปกรณ์สมาร์ทโฮมเพื่อช่วยในเรื่องการดูแลด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการชาวไทยในสิงคโปร์ควรเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการจ้างงาน และวางแผนการจ้างกลับเข้ามาทำงานในกลุ่มลูกจ้างที่มีคุณสมบัติตามที่กระทรวงแรงงานสิงคโปร์กำหนด


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง