รายงานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์กับต่างประเทศ ไตรมาสที่ 1/2565

ภาพรวม        

ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 รัฐบาลสิงคโปร์ยังคงกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พัฒนาการที่สำคัญของไตรมาสนี้ คือ (1) การเจรจาและเตรียมการเพื่อเปิดพรมแดนทั้งทางบก อากาศ และทะเล เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและการบิน (2) การเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเวียดนาม (State Visit) (3) การจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลากหลายสาขากับทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเน้นด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ความยั่งยืน พลังงาน เทคโนโลยีการเงิน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และความร่วมมือทางอวกาศ อย่างไรก็ดี สิงคโปร์เริ่มห่วงกังวลต่อมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดของจีน (คู่ค้าอันดับ 1 ของสิงคโปร์) จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของสิงคโปร์ ดังสรุปความสัมพันธ์เศรษฐกิจทวิภาคีสิงคโปร์ – ต่างประเทศ ไตรมาสที่ 1/2565 แบบรายประเทศและภูมิภาค ดังนี้

1. มาเลเซีย

1.1 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ประกาศแถลงข่าวร่วม เรื่องการเปิดการสัญจรข้ามพรมแดนทางบกสิงคโปร์ – มาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ซึ่งช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว ข้ามพรมแดน รวมทั้งอำนวยความสะดวกการสัญจรของนักธุรกิจและแรงงานระหว่างรัฐยะโฮร์กับสิงคโปร์ โดยผู้เดินทางไม่ต้องกักตัว ทั้งยังยกเว้นการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางสำหรับผู้เดินทางเข้าสิงคโปร์ทางบกด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 มุขมนตรีแห่งรัฐยะโฮร์ได้เดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ด้วย

1.2 เมื่อวันที่ 17 – 19 เมษายน 2565 นาย Onn Hafiz Ghazi มุขมนตรีแห่งรัฐยะโฮร์ ได้เดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนาย S.Iswaran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และเข้าพบ (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ (4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ (5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ และ (6) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นาย Osman Maliki) ด้วย จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ใกล้ชิดระหว่างรัฐยะโฮร์บาห์รูกับสิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเยือนของผู้นำสูงสุดแห่งรัฐยะโฮร์ในครั้งนี้ โดยเฉพาะในประเด็นความเชื่อมโยง ทั้งการเปิดพรมแดนทางบก และการผลักดันระบบรางความเร็วสูงยะโฮร์ – สิงคโปร์ (Johor Bahru-Singapore Rapid Transit System – RTS Link) โดยมีจุดเชื่อมโยงในสิงคโปร์ คือ สถานีรถไฟใต้ดิน Thomson-East Coast ซึ่งสร้างเสร็จแล้วร้อยละ 10 ของโครงการ และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2570 อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏรายงานข่าวเรื่องการฟื้นฟูโครงการรถไฟความเร็วสูง มาเลเซีย – สิงคโปร์ (Kuala Lumpur-Singapore High Speed Rail – HSR) ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหญ่ Singapore-Kunming Rail Link (SKRL) ในชั้นนี้ แต่สิงคโปร์ก็ยังคงเปิดกว้างและมีความหวังในเรื่องดังกล่าว หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยและได้หารือกันเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – มาเลเซียด้วย

2. อินโดนีเซีย

2.1 ในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งวิกฤตราคาพลังงานโลกเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างยิ่ง สิงคโปร์ได้ขอซื้อพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อบรรเทาวิกฤตราคาพลังงานในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นอย่างยิ่ง รวมทั้งลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากมาเลเซีย โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 นายแพทย์ Tan See Leng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ คนที่ 2 (รับผิดชอบด้านพลังงาน) ได้ลงนาม MoU ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานกับอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมการค้าพลังงานไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสำหรับพลังงานไฮโดรเจนและคาร์บอนต่ำระหว่างกัน (Carbon Capture Utilization and Storage – CCUS) ก่อนที่จะมีการประชุม Leaders’ Retreat ระหว่างนายกรัฐมนตรีของสองประเทศ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ณ เกาะบินตัน 

2.2 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) กับธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้ลงนาม MoU เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินและการธนาคารระหว่างกัน 

3. เวียดนาม

3.1 นาย Nguyen Xuan Phuc ประธานาธิบดีเวียดนามเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ (State Visit) ระหว่างวันที่ 24 – 26 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีผลลัพธ์การเยือนทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจโดยประธานาธิบดีเวียดนามได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และได้เป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงที่สำคัญ ดังนี้ (1) การต่ออายุความตกลง ความร่วมมือด้านความมั่นคง (2) กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสองประเทศได้ลงนาม MoU on Economic and Trade Cooperation เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าสินค้าเกษตร ความเชื่อมโยง พลังงาน และการส่งเสริม SMEs และกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของสองประเทศ (3) กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารสิงคโปร์ – เวียดนาม ได้ลงนาม MoU for cooperation in the field of Digital Economy 4) MoU on the Cooperation Programme for 2022-2024 between the Vietnam Fatherland Front and The People’s Association และ (5) การนำ Implementation Workplan on Intellectual Property Cooperation, pursuant to the Memorandum of Bilateral Cooperation 

3.2 นอกจากการเข้าพบประธานาธิบดีสิงคโปร์แล้ว ประธานาธิบดีเวียดนามได้เข้าพบนาย Goh Chok Tong รัฐมนตรีอาวุโสกิตติมศักดิ์และอดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และกล่าว keynote address ในการประชุม Singapore-Vietnam Business Dialogue รวมทั้งเยี่ยมชมโครงการเขื่อนพลังงานแสงอาทิตย์ Sembcorp Tengeh Floating Solar Farm ด้วย 

3.3 อนึ่ง ปี 2566 จะเป็นโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตสิงคโปร์ – เวียดนาม และเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

4. สหรัฐฯ                              

4.1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม – 2 เมษายน 2565 นาย Lee Hsien Loong นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อการเจรจาทำงาน (Working Visit) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (MCI) สิงคโปร์ร่วมเดินทางด้วย โดยในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ สองฝ่ายให้คำมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้าน ซึ่งในด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ และสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนในสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 จากเอเชีย การค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศได้ช่วยสร้างงานกว่า 2.5 แสนอัตราในสหรัฐฯ นอกจากนี้ สองฝ่ายยังหารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน และการส่งเสริมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งฝ่ายสิงคโปร์ยินดีที่ฝ่ายสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอการจัดตั้ง Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)

4.2 ในระหว่างการเยือน นาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MTI สิงคโปร์ และนาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ลงนาม MoU implementing the Partnership for Growth
and Innovation (PGI) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) เศรษฐกิจดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะ (2) พลังงานและสิ่งแวดล้อม (3) การผลิตขั้นสูงและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และ (4) การดูแลสุขภาพ (Healthcare) โดยระบุว่า สองฝ่ายมีแผนจะผลักดัน PGI ในกรอบ Cross Border Privacy Rules (CBPR) System ของเอเปคด้วย

4.3 ภายใต้ PGI สองฝ่ายยังได้ประกาศแผนความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ 3 ด้านภายใต้ PGI โดยมี MTI MCI สำนักงาน Infocomm Media Development Authority ของสิงคโปร์และพาณิชย์สหรัฐฯ ขับเคลื่อนร่วมกัน ได้แก่
(1) ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Alignment of AI Frameworks and Toolkits) (2) ด้านการผลิตขั้นสูง (U.S. Advanced Manufacturing Trade Mission to Singapore and Other Markets in the Region) (3) ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Regional Collaboration on Cybersecurity)

4.4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MTI สิงคโปร์ ยังได้ลงนามใน Artemis Accord ของ NASA สหรัฐฯ ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ 18 ที่ได้ลงนามในความตกลงดังกล่าว เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของโลกผ่านการแลกเปลี่ยนทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย และเยาวชน โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้พบหารือกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งกำกับดูแล National Space Council ของทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ และกล่าวให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวด้วย

4.5 นาย Gabriel Lim ปลัด MTI สิงคโปร์ กับนาย Scott A. Nathan ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร United States International Development Finance Corporation (DFC) ได้ลงนามใน MoU to Deepen Cooperation on Infrastructure Development เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในสาขานี้ อาทิ ใน Clean Energy Roundtable 

4.6 เมื่อวันที่ 4 – 5 เมษายน 2565 นาง Katherine Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนสิงคโปร์ โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และพบหารือกับนาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ในประเด็นเพื่อส่งเสริมการค้า FTA และ IPEF รวมถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

5. จีน

5.1 จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ และสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนอับดันที่ 1 ของจีน โดยสองฝ่ายได้จัดการประชุม Joint Council for Bilateral Cooperation (JCBC) ครั้งที่ 17 ผ่านระบบทางไกล เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564 โดยมีนาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กับนายหาน เจิ้ง (Han Zheng) รองนายกรัฐมนตรีจีนเป็นประธานร่วมกัน นอกจากนี้ สองฝ่ายยังได้การประชุมการดำเนินการร่วมกันตามกรอบโครงการ สิงคโปร์ – นครฉงชิ่ง (JIC, CCI) ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MCI สิงคโปร์เป็นประธานร่วมกับผู้ว่าการนครฉงชิ่งด้วย   

5.2 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์จีน (China Securities Regulatory Commission – CSRC) ได้จัดการประชุม MAS- MAS-CSRC Supervisory Roundtable ครั้งที่ 6 ผ่านระบบทางไกล โดยสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับข้อริเริ่มความร่วมมือด้านตลาดหลักทรัพย์ที่ได้ประกาศไว้ในการประชุม JCBC ครั้งที่ 17 และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงของตลาดหลักทรัพย์ระหว่างสองประเทศ 

6. ญี่ปุ่น

นาย Hagiuda Koichi รัฐมนตรีว่าการกระทรวง METI ญี่ปุ่นเดินทางเยือนสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 (ก่อนการเดินทางเยือนประเทศไทย) และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MTI สิงคโปร์ เน้นด้าน (1) ความร่วมมือด้านพลังงาน (2) การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเปี่ยมด้วยนวัตกรรม และ (3) ความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งรวมถึง CPTPP สองฝ่ายยังได้ลงนามใน MoC on Low-Emissions Solutions และจะจัดการประชุม Japan-Singapore Dialogue on Energy Transition ต่อไป 

7. อินเดีย

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 อินเดียและสิงคโปร์ได้จัดการประชุม India-Singapore Technology Summit โดยนาย Lee Chuan Teck ปลัด MTI (ด้านการพัฒนา) MTI สิงคโปร์ และนาย S Chandrasekhar, Secretary, Department of Science and Technology ได้ลงนาม MoU on Cooperation in the Fields of Science, Technology and Innovation เพื่อส่งเสริมโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างกันทั้งในสาขาวิศวกรรมและการผลิตขั้นสูง พลังงาน สภาพภูมิอากาศ สาธารณสุขทรัพยากรธรรมชาติ โดยหน่วยงาน ESG ของสิงคโปร์ได้ลงนาม Implementation Agreement กับ DST ว่าด้วยการส่งเสริมสตาร์ทอัพและธุรกิจในภาคเทคโนโลยี นวัตกรรมและบริการแก้ไขปัญหา (solutions) ระหว่างกัน 

8. สหราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 นาย S Iswaran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีด้านการเจรจาการค้าของสิงคโปร์ และนาง Anne-Marie Trevelyan Secretary of State for Int’l Trade สหราชอาณาจักรได้ลงนามความตกลง UK-Singapore Digital Economy Agreement (UKSDEA) และเป็นประธานการประชุม UKSFTA Trade Committee ครั้งแรก ซึ่งการหารือเน้นเรื่องความร่วมมือด้านการคุ้มครองการลงทุนและการพัฒนากรอบความร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ สองฝ่ายยังได้มีถ้อยแถลงร่วม Joint Statement on the CPTPP and the WTO ยินดีที่การขอเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของสหราชอาณาจักรมีความคืบหน้าที่ดี (progress to the market access stage) และสองประเทศย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดใน WTO ด้วย 

9. ฝรั่งเศส 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 นาย S Iswaran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีด้านการเจรจาการค้าสิงคโปร์ และนาย Franck Riester, Minister Delegate for Foreign Trade and Economic Attractiveness ได้ลงนามความตกลง France-Singapore Digital and Green Partnership (DGP) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลและความยั่งยืน ทั้งในด้านการคมนาคมอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ไซเบอร์ นวัตกรรมการเงิน เทคโนโลยีอาหารและการเกษตร เทคโนโลยีการแพทย์ และเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งฝ่ายสิงคโปร์เห็นว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเพิ่มพูนโอกาสทางธุรกิจแก่ภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs ของสิงคโปร์ และความร่วมมือทวิภาคีนี้ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนา “EU-Singapore Digital Partnership” ต่อไปด้วย 

10. ตะวันออกกลาง

10.1 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์ Tan See Leng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสิงคโปร์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MTI คนที่ 2 (ด้านพลังงาน) ได้เข้าร่วมการประชุม The Middle East Institute Annual Conference, Trade Panel (ซึ่งมีอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ Bilahari เป็นประธาน) และกล่าว Keynote Address โดยกล่าวย้ำถึงบทบาทของสิงคโปร์ในการเป็นฐานสำคัญ (ideal launchpad) ของตะวันออกกลางในการเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในปี ค.ศ. 2030 ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างสิงคโปร์ – ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.2 ในปัจจุบันมีมูลค่าการค้ารวม 43,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (57,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงนาม FTA ระหว่างสิงคโปร์กับกลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC) นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเห็นโอกาสในการขยายร่วมมือกับตะวันออกกลาง ทั้งในด้านการลงทุนพลังงาน e-Commerce และอุตสาหกรรมอาหาร (สิงคโปร์มีบริษัทด้านอาหารมากกว่า 30 รายที่เข้าไปทำธุรกิจในตะวันออกกลาง) รวมถึงความสนใจในการเข้าร่วม RCEP ของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

10.2 เมื่อวันที่ 19 – 24 มีนาคม 2565 นายแพทย์ Vivian Balakrishnan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ เดินทางเยือนปาเลสไตน์ อิสราเอล และ UAE และ ดร. Mohamed Maliki รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ คนที่ 2 ได้เดินทางเยือนการ์ตาร์ (ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า ประเด็นหนึ่งที่สิงคโปร์เดินหน้าเจรจากับตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง คือ พลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน) ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 เจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด (His Highness Prince Faisal bin Farhan Al Saud) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียได้เสด็จเยือนสิงคโปร์ และทรงพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ด้วย ซึ่งในปี 2565 เป็นโอกาสครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์ สิงคโปร์ – ซาอุดีอาระเบีย

11. ลาตินอเมริกา

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ได้ลงนามในความตกลง Pacific Alliance-Singapore Free Trade Agreement กับกลุ่ม Pacific Alliance (พันธมิตรลาตินอเมริกา 4 ประเทศ ได้แก่ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู) ทำให้สิงคโปร์เป็นสมาชิกสมทบ (Associate Member) ประเทศแรกของกลุ่ม Pacific Alliance ทั้งนี้ ความตกลง PASFTA ยังเป็นความตกลงฉบับแรกของสิงคโปร์ที่ระบุความร่วมมือด้านการบริการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ และเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพในการขนส่งทางทะเลกับต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ความตกลงยังระบุการสำรวจโอกาสเพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านที่ภาคีสมาชิกมีความสนใจและศักยภาพร่วมกัน ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมอาหาร

12. หมู่เกาะแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 สิงคโปร์ได้เข้าเป็นคู่เจรจา (Dialogue Partner) ขององค์การการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Island Forum – PIF) หลังจากที่ได้ยื่นการสมัครอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 โดยสิงคโปร์เห็นว่า PIF เป็นกรอบความร่วมมือสำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันสิงคโปร์ดำเนินโครงการ Singapore Cooperation Programme ซึ่งให้การอบรมแก่บุคลากรแปซิฟิกใต้แล้วมากกว่า 5,300 คน ในหลากหลายสาขารวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ การบินพลเรือน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมือง

แนวโน้มในช่วงต่อไป     

เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดประเทศและเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ดังนั้น ปี 2565 จึงเป็นโอกาสทองของการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ หลังจากที่ปิดประเทศมา 2 ปีเต็ม ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ประเมินว่า รัฐบาลสิงคโปร์น่าจะผลักดันการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่า MTI สิงคโปร์อาจปรับลดตัวเลขคาดการณ์ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2565 จากเดิมร้อยละ 3 – 5 เป็นร้อยละ 2 – 4 เนื่องจากเศรษฐกิจของสิงคโปร์ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ราคาพลังงานโลก และปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศที่ร้อยละ 5.4 (สูงที่สุดในรอบ 10 ปี)

นอกจากผลจากความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครนแล้ว เศรษฐกิจของสิงคโปร์เริ่มได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ของจีน ซึ่งส่งผลให้การค้าสินค้ากลุ่ม non-oil (NODX) ของสิงคโปร์เติบโตลดลงจากร้อยละ 9.4 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นร้อยละ 7.7 ในเดือนมีนาคม 2565 หรือคิดเป็นมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (เติบโตลดลง 4 เดือนติดต่อกัน) โดยที่สิงคโปร์เป็นประเทศเมืองท่าที่สร้างรายได้จากการขนส่งสินค้าและการส่งออกทางเรือจำนวนมาก ดังนั้น การปิดเมืองที่นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของจีน (คู่ค้าอันดับ 1 ของสิงคโปร์) จึงเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์อย่างมีนัยสำคัญ


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง