บริษัทสตาร์ทอัพสิงคโปร์มุ่งพัฒนาและผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (hydrogen fuel cell) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดทางเลือกสำหรับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ของสิงคโปร์

สิงคโปร์ตั้งเป้ายุติการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปล้วนภายในปี 2583 และมุ่งศึกษาพลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนกว่ามาใช้ในการคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว การใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของแหล่งพลังงานสะอาดที่กำลังจะถูกนำกลับมาทดลองใช้กับยานยนต์บนถนนอีกครั้งโดยบริษัท Spectronik บริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาและผลิตเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) ของสิงคโปร์เชื่อว่า เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนของตนมีราคาคุ้มค่าที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ในขณะนี้

การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนของบริษัท Spectronik พลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์

ตั้งแต่ปี 2554 บริษัท Spectronik ได้เริ่มพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ผลิตไฟฟ้าจากกระบวนการทางเคมีระหว่างไฮโดรเจนที่บรรจุในถังแรงดันกับออกซิเจนในอากาศเพื่อเป็นแหล่งจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โดรน หุ่นยนต์ และยานพาหนะอื่น ๆ เช่น รถรับ-ส่ง (shuttle) และรถกอล์ฟ (buggy) และในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 นี้ บริษัทจะเริ่มนำเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาทดลองใช้งานกับรถบรรทุกขนาดเล็กครั้งแรกในเขต Jurong Innovation District ของสิงคโปร์เป็นระยะเวลา 1 ปี

ทั้งนี้ รถบรรทุกคันทดลองของบริษัท Spectronik ดังกล่าวจะสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากถึง 1 ตัน ขับเคลื่อนได้ระยะไกลถึง 500 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วสูงสุดที่ 44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้เวลาในการเติมไฮโดรเจนแต่ละครั้งเพียง 5 นาทีเท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบและวิจัยยานยนต์อัตโนมัติของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University- NTU) ของสิงคโปร์

รถบรรทุกเล็กเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
แหล่งที่มา: Spectronik (https://www.spectronik.com/gallery)
รถกอล์ฟและโดรนเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
แหล่งที่มา: Spectronik (https://www.spectronik.com/gallery)

แนวโน้มการใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานทดแทนในสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์วางแผนเพิ่มการใช้รถไฟฟ้า EV ที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับรถยนต์นั่ง รวมทั้งการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานรถไฟฟ้า อาทิ การเร่งติดตั้งเครือข่ายสถานีชาร์จไฟ 12,000 จุด ภายในปี 2568 และ 60,000 จุด ภายในปี 2573 แต่จากข้อได้เปรียบของเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่สามารถจ่ายพลังงานได้สูงกว่าแบตเตอรี่ถึง 3 เท่า ทำให้สามารถขับเคลื่อนได้ไกลกว่า อีกทั้งใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงไม่นาน
ต่างจากการชาร์จไฟฟ้าให้แบตเตอรี่ เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจึงน่าจะตอบโจทย์มากกว่าในภาคขนส่งที่มักต้อง
ขับกลับมายังจุดเริ่มต้นที่เป็นสถานี ท่ารถ หรือคลังสินค้า ไม่จำเป็นต้องมีจุดเติมไฮโดรเจนกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาที่สูญเสียไประหว่างการเดินทาง และลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ

การทดลองเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในรถบรรทุกครั้งนี้ถือเป็นความคืบหน้าต่อจากการทดลองใช้งานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในสิงคโปร์ครั้งแรกเมื่อปี 2546 (20 ปีที่แล้ว) ที่ทดลองกับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กของบริษัท Mercedes-Benz และได้ติดตั้งจุดเติมไฮโดรเจนในสถานีบริการน้ำมันของ BP (British Petroleum) บริเวณ Upper East Coast อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวไม่ได้รับการขับเคลื่อนต่อเนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

บริษัท Spectronik ยังดำเนินการดัดแปลงรถยก (forklift) และรถขนส่งของผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านการจัดส่งอาหารและพัสดุด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และตั้งเป้าหมายการให้บริการรถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงบนท้องถนนของสิงคโปร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า เช่น รถตู้และรถบัสขนาดเล็ก รวมถึงติดตั้งสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน นอกจากนี้ สมาคมไฮโดรเจนและเซลล์เชื้อเพลิงของสิงคโปร์ (Hydrogen and Fuel Cell Association of Singapore) อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภาคอุตสาหกรรมถึงความเป็นไปได้ทางเทคนิคในการจัดตั้งสถานีบริการเติมไฮโดรเจนในสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน

บริษัท Spectronik ดัดแปลงรถยก (forklift) ให้กับบริษัท Air Liquide สิงคโปร์ โดยใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
แหล่งที่มา: Spectronik (https://www.spectronik.com/gallery)

นอกจากการใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนกับการคมนาคมขนส่งทางบกแล้ว การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore – MPA) ยังมีกำหนดรับมอบเรือเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนลำแรกในช่วงปลายปี 2566 นี้ หลังจากได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป เรือลำใหม่ทั้งหมดที่ดำเนินการในน่านน้ำสิงคโปร์ต้องใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือพลังงานไฮโดรเจน

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ในการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีพัฒนาการที่ชัดเจนมากขึ้นทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น การเริ่มผลิตรถยนต์รุ่น ix5 Hydrogen ของบริษัท BMW การประกาศขยายธุรกิจเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนกับรถยนต์รุ่น CR-V ของบริษัท Honda และการเปิดตัวรถยนต์รุ่น Mirai ของบริษัท Toyota

สำหรับไทย มีการเปิดสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนำร่องแห่งแรกที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ปตท. บริษัท Toyota และบริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส เพื่อทดสอบรถยนต์ Toyota รุ่น Mirai ในรูปแบบการให้บริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวระหว่างสนามบินอู่ตะเภา พัทยา และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเก็บข้อมูลเชิงเทคนิค สร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลการใช้งานในอนาคต

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ได้มีการทดสอบการเติมไฮโดรเจนให้กับยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถหัวลาก และรถโดยสาร ครั้งแรกในไทย โดยความร่วมมือของกลุ่มบริษัทยานยนต์ญี่ปุ่น ได้แก่ Toyota Isuzu Suzuki Daihatsu และ Hino ภายใต้กรอบความร่วมมือ Commercial Japan Partnership Technologies (CJPT) ที่มีเป้าหมายในการขยายพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของภาคการขนส่งร่วมกัน

การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เติบโตทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะขยายการใช้งานไปในทุกอุตสาหกรรมที่ต้องใช้การขับเคลื่อนและขนส่งซึ่งไม่จำกัดแค่เพียงในโรงงานหรือบริการขนส่งเท่านั้น แต่รวมไปถึงรถขุดตักในภาคการก่อสร้างด้วย ทั้งนี้ หากระบบนิเวศของพลังงานไฮโดรเจนมีความก้าวหน้ามากขึ้นทั้งในเรื่องความปลอดภัยในการจัดเก็บและการขนส่งก็เป็นไปได้สูงว่าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะได้รับการผลักดันจากรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อเป็นทางเลือกของพลังงานสะอาดในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ตามยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ (National Hydrogen Strategy) ของสิงคโปร์ที่ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2565

ผู้ประกอบการทุกภาคอุตสาหกรรมจึงควรติดตามพัฒนาการของการใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวทั้งความคิด การพัฒนา และการผลิตสินค้าให้สามารถรองรับความต้องการเซลล์เชื้อเพลิงในอนาคต รวมทั้งศึกษาแนวทางการปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อให้สามารถคว้าโอกาสจากพลังงานไฮโดรเจนและต่อยอดธุรกิจให้สอดคล้องกับเทรนด์ Net Zero ได้ ทั้งนี้ ไทยมีโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศได้มากในเรื่องนี้เนื่องจากมีตลาดความต้องการใช้พลังงานขนาดใหญ่ และไทยอยู่ระหว่างการสร้างความพร้อมทั้งในเรื่องสาธารณูปโภค กฎระเบียบ และทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสม ตามวาระแห่งชาติของไทยในเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง