สิงคโปร์ยังเชื่อมั่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์มีทิศทางเติบโตดีในระยะยาว

นักวิเคราะห์เชื่อมั่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระยะยาว และจะก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับเทรนด์การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเอไอ แม้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในช่วงขาลงและส่งผลกระทบต่อธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์ในขณะนี้ ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายชิปทั่วโลกลดลง 21.6% ในเดือนเมษายน 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน (YoY) และแม้ว่าความต้องการชิปทั่วโลกจะเริ่มมีสัญญานที่ดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงต่ำกว่าความต้องการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2565 และปีก่อนหน้าอย่างมาก

ภาพรวมและสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์ในปัจจุบัน

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในฐานการผลิตของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของโลก และตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนด้านการประกอบเซมิคอนดักเตอร์และการออกแบบวงจรรวมจากต่างประเทศให้ขยายฐานการผลิตในสิงคโปร์ TSMC ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวันกำลังพิจารณาสร้างโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์แห่งใหม่ในสิงคโปร์ จากข้อเสนอที่จูงใจเรื่องภาษีและค่าสาธารณูปโภค Silicon Box สตาร์ทอัพผู้ผลิตและออกแบบชิปขนาดเล็กที่ใช้กับเทคโนโลยีเอไอ รถยนต์ไฟฟ้า EV และอุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ ก็เพิ่งเปิดโรงงานแห่งแรกอย่างเป็นทางการในสิงคโปร์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 2.65 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมจ้างแรงงานกว่า 1,200 ตำแหน่ง และวางแผนเพิ่มทักษะขั้นสูงด้านวิศวกรรมและดิจิทัลให้กับพนักงาน ช่วยชูศักยภาพด้านการแข่งขันของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์ยังได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจากการที่สหรัฐฯ ออกข้อห้ามการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับการผลิตชิปขั้นสูง (ขนาดเล็ก) ให้กับจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ทำให้จีนนำเข้าเครื่องจักรผลิตชิปจากสิงคโปร์มูลค่ามากถึง 548 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในเดือนเมษายน 2566 การส่งออกแผงวงจรของสิงคโปร์ไปจีนก็เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนเมษายน 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในเอเชียรายงานมูลค่าการส่งออกไปจีนลดลง

อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากการคลี่คลายของโควิด-19 และการชะลอตัวของอุปสงค์โลกจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยรวมของสิงคโปร์อยู่ในช่วงชะลอตัว โดยมีรายงานว่า บริษัทเซมิคอนดักเตอร์สองรายใหญ่ของสิงคโปร์ ได้แก่ AEM Holdings ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำด้านนวัตกรรมการทดสอบ และ UMS Holdings ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้กับบริษัท Applied Materials ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก มีผลประกอบการลดลงอย่างมาก โดย AEM Holdings มีกำไรสุทธิลดลงถึง 76% และรายได้ลดลง 49% ในครึ่งแรกของปี 2566 ขณะที่ UMS Holdings รายงานกำไรสุทธิลดลง 27% ในครึ่งแรกของปี 2566

แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์

กระแสของเทคโนโลยีเอไอที่ใช้สำหรับสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วย (generative AI) เช่น โปรแกรม ChatGPT ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด จะขับเคลื่อนความต้องการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หน่วยการประมวลผล และชิปหน่วยความจำ รวมถึงความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องมืออุตสาหกรรมรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีจะเติบโตต่อเนื่องในระยะยาวในสิงคโปร์

นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังเห็นการเติบโตของผู้ผลิตชิปในสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งการลงทุนในสายการผลิตใหม่และการขยายโรงงานและกำลังการผลิต ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือที่ต้องการความแม่นยำสูงของสิงคโปร์ อีกทั้งการดำเนินกลยุทธ์แบบจีน+1 (China-plus one) เพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนเฉพาะในจีน หรือในเขตเศรษฐกิจ/ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอันดับต้นของโลก เช่น จีนไทเปและเกาหลีใต้ ช่วยเพิ่มความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอื่นมากขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักของอุตสาหกรรม

World Semiconductor Trade Statistics คาดว่า ในปี 2566 ตลาดเซมิคอนดักเตอร์จะขยายตัวลดลงที่ 10.3% แต่จะกลับมาฟื้นตัวที่ประมาณ 11.8% ในปี 2567 บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำหลายแห่งคาดว่า ผลประกอบการจะเริ่มดีขึ้นภายในปี 2566 เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณความต้องการที่คงที่ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของธนาคาร DBS สิงคโปร์ ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ

ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อย่างหนักในช่วงโควิด-19 คลี่คลายลงอย่างมาก ทำให้แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดีขึ้น โดยเฉพาะไทยที่ต้องพึ่งการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์มาใช้ในการผลิต อย่างไรก็ดี ยังคงมีความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงซึ่งมีแนวโน้มตึงตัวจากผลกระทบของมาตรการกีดกันของสหรัฐฯ

ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคและโลกอย่างใกล้ชิดและพิจารณาปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือ เช่น กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบ วางแผนคลังชิ้นส่วนและจัดทำแผน
เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของแรงงานเพื่อรองรับ
ความต้องการเร่งด่วนในการกระจายฐานการผลิต โดยเฉพาะทักษะด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเอไอ รวมถึงตั้งเป้าหมายและปฏิบัติตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสู่แนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืนในปัจจุบัน


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง