เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

การเยือนสิงคโปร์ของผู้นำไทยในครั้งนี้นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสิงคโปร์ โดยในช่วงการหารือกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว อาทิ Singapore – Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) และ Thailand – Singapore Civil Service Exchange Programme (CSEP) เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไปในอนาคต โดยสิงคโปร์ยินดีที่ไทยแสดงความสนใจเข้าร่วมความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement: DEPA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวางมาตรฐานและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในการค้าดิจิทัล เช่น การอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการค้าดิจิทัลแบบครบวงจร ผ่านการใช้งานระบบยืนยันตัวตน ระบบการแจ้งหนี้และระบบการชำระเงินของธุรกิจแบบดิจิทัล รวมทั้งการสร้างระบบการไหลเวียนของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ผ่านการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข้ามประเทศและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์จากความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขยายตลาดผ่านการค้าดิจิทัล 

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังมองเห็นโอกาสความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจสีเขียว ผ่านความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และการค้าพลังงานหมุนเวียน (2) การค้า การลงทุนและความมั่นคงทางอาหาร ผ่านการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังสิงคโปร์ และการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (3) การท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับนาย วี อี เชียง (Wee Ee Cheong) รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือธนาคารยูโอบี (UOB Group) นายตัน ชุน ฮิน (Tan Choon Hin) กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารยูโอบีประเทศไทย (UOB Thailand) และผู้บริหารระดับสูงของเครือธนาคารยูโอบีซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ของสิงคโปร์ โดยยูโอบีแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในไทยในระยะยาวและเน้นย้ำบทบาทของยูโอบีในฐานะองค์กรเอกชนที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยผ่านการให้สินเชื่อแก่นักลงทุน โดยได้จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในไทยเพื่อดูแลสินเชื่อประเภทดังกล่าวโดยเฉพาะ ที่ผ่านมายูโอบีได้ให้การสนับสนุนการลงทุนในลักษณะดังกล่าวเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์  สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงเข้ามายังไทยสูงเป็นอันดับ 2

ธนาคารยูโอบีได้ดำเนินกิจการในไทยมานานกว่า 20 ปี และปัจจุบันมีสาขาให้บริการทั่วประเทศไทยมากกว่า 150 สาขา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ยูโอบียังได้ขยายธุรกิจผ่านการเข้าซื้อกิจการธนาคารลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อย โดยยูโอบีเป็นธนาคารต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในไทย

สิงคโปร์และไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งในฐานะมิตรประเทศอาเซียนและประเทศคู่ค้าที่สำคัญในภูมิภาค เห็นได้จากการค้าระหว่างสิงคโปร์กับไทยในปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4.2 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 23.4 โดยสิงคโปร์เป็นคู่ค้าลำดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 9 ของสิงคโปร์  การเยือนสิงคโปร์ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้จะช่วยปูทางไปสู่การต่อยอดความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศให้เดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทั้งแก่ผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว


ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC)
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์


ข้อมูลอ้างอิง